เพลงหน้าพาทย์คุกพาทย์และรัวสามลา
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้แผลงฤทธิ์สำแดงเดช หรือแสดงอารมณ์โกรธอย่างดุดันน่าเกรงขามของตัวละครทุกตัว
ฉุยฉายศูรปนขา
เป็นการแสดงชุดหนึ่งที่อยู่ในละครดึกดำบรรพ์เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอน “ศูรปนขาหึง” พระราชนิพนธ์ ในเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย เสร็จจำแลงแปลงกายจะตามชายไปให้ทัน
นักพรตช่างงามวิไล แต่งตัวเราไซร้ไปให้คมสัน
ผ้านุ่งใหม่สไบหอม ให้พริ้งพร้อมทุกสิ่งอัน
อีกทั้งเพรชพรายพรรณ เห็นกระนั้นคงติดใจ
เสียดายเอย อยากจะส่องพระฉายหัดแย้มพรายให้ยั่วยวน
กระจกในไพรหาที่ไหนมา ช่างเถาะเจรจาแล้วยิ้มสรวล
ให้เสียงอ่อนหวานกระบิดกระบวน คงตามลามลวนมาชวนเราเอย
ร้องแม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีโฉมเฉลา
แต่งจิตให้พริ้มเพรา เจ้าหนุ่มจะได้หลง
ต้องทำแสนงอน ควักค้อนให้งวยงง
แม้แต่ต้ององค์ จะสลัดปัดกรเอย
แม่เล่นตัวเอย แม่จะแกล้งเล่นตัว
แม้มากอดพันพัว เราจะหยิกเราจะตี
อยากจะหลงทำไม จะยั่วให้สิ้นดี
แทบเป็นบ้าคราวนี้ ที่ในกุฎีเจียวเอย
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็วลา
รจนาเสี่ยงพวงมาลัย
เป็นการแสดงชุดหนึ่งซึ่งอยู่ในบทละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ตอน “รจนาเลือกคู่” บทประพันธ์ ในพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย
ปี่พาทย์ทำเพลงลีลากระทุ่ม
เพลงลีลากระทุ่ม
เมื่อนั้น เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน
พิศโฉมพระธิดาวิลาวัลย์ ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน
งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ นางในธรณีไม่มีเหมือน
แสร้งทำแลเลี่ยงเบี่ยงเบือน ให้ฟั่นเฟือนเตือนจิตคิดปอง
พระจึงตั้งสัตย์อธิฐาน แม้นบุญญาธิการเคยสมปอง
ขอให้ทรามสงวนนวลน้อง เห็นรูปพี่เป็นทองต้องใจรัก
เพลงลมพัดชายเขา
เมื่อนั้น รจนานารีมีศักดิ์
เทพช่วยอุปถัมภ์นาซัก นงลักษณ์ดูเงาะเจาะจง
นางเห็นรูปสุวรรณอยู่ชั้นใน เอารูปเงาะสวมใส่ให้คนหลง
ใครใครไม่เห็นรูปทรง พระเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา
ชะรอยบุญเราไซร้จึงได้เห็น ต่อจะเป็นคู่ครองกระมังหนา
คิดพลางนางเสี่ยงมาลา แม้นว่าเคยสมภิรมย์รัก
เชิดฉิ่ง
ขอให้พวงมาลัยนี้ไปต้อง เจ้าเงาะรูปทองจงประจักษ์
เสี่ยงแล้วโฉมยงนงลักษณ์ ผินพักตร์ทิ้งพวงมาลัยไป
-เพลงเร็ว-
รำลาวกระทบไม้
เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวจังหวัดสุรินทร์ เดิมชื่อว่า “เต้นสาก” ภายหลังกรมศิลปากรได้ศึกษา การเล่นชนิดนี้ และนำมาปรับปรุงจัดระเบียบแบบแผน เรียงลำดับท่ารำขึ้นโดยไม่ทิ้งเค้าแบบแผนเดิม ผู้ประพันธ์เนื้อร้องและดนตรีคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท
เพลงลาวกระทบไม้
แสงรัชนีสองสีนวล
ชื่นใจชวนยั่วยวนใจชมอภิรมย์เริงใจ
เคล้าคู่กันไปฟ้อนกรายร่ายรำ
หนุ่มวอนกลอนกล่าวเจ้าสาวหวานช่ำ
จันทร์งามยามก่ำเป็นสายนำดวงใจ
ยามเดือนลอยเด่น
เหมือนดังเป็นใจให้สาวหนุ่มพรอดกัน
กรีดกรายร่ายรำสำเริงรื่น
แสนชื่นชอบเชิงเริงรำทำทางนั้น
สับเปลี่ยนเวียนผันกันสำราญ
ร่ายรำสำราญแสงเดือนเด่น
เยือกเย็นน้ำค้างช่างซาบซ่า
สาวรำนำหนุ่มชุ่มชื่นบาน
ต่างสุขศานต์แสนงามยามค่ำคืน
ดรสาแต่งตัว
เป็นการแสดงที่อยู่ในละครเรื่อง “อิเหนา” ตอน “ดรสาแบหลา” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ปี่พาทย์ทำเพลงต้นเข้าม่าน
ร้องรื้อร่าย
เมื่อนั้น นวลนางดรสามารศรี
แจ้งว่าศพพระสวามี เชิญมาถึงที่พระเมรุทอง
ร้องเพลงชมตลาด
จึงสระสรงทรงสำอางค์อินทรีย์ วารีชำระล้างหมนหมอง
ชักขมิ้นหนุนเนื้อนวลละออง ทรงสุคนธ์ปนทองอุไรเรือง
หวีเกศกันไรใสกรอบหน้า จอนจินดาแวววับประดับเฟื่อง
กุณฑลห้อยพลอยเพชรค่าเมือง อร่ามเรืองรุ่งร่วงดังดวงดาว
บรรจงทรงภูษาสีเศวต สไบปักทองเทศพื้นชาว
ทองกรสุรกานต์สังวาลวาว สอิ้งแก้วแพรวพราวพรายตา
ธำมรงค์ทรงสอดนิ้วพระหัตถ์ เพชรรัตน์พรรณรายทั้งซ้ายขวา
ครั้นเสร็จเสด็จลีลา ลงจากพลับพลาพนาลัย
ปี่พาทย์ทำเพลงเชิดเสมอ
วันทองแต่งตัว-ฉุยฉายวันทอง
เป็นการแสดงที่อยู่ในละครเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน “พระไวยแตกทัพ” เนื้อเรื่องย่อมีดังนี้
สมเด็จพระพันวษามีราชโองการ ใช้ให้พระไวยยกกองทัพไปรบกับพวกมอญใหญ่ ซึ่งที่แท้ก็คือพลายชุมพล น้องต่างมารดาของพระไวยที่ปลอมตัวมา โดยอุบายของขุนแผนผู้เป็นพ่อซึ่งโกรธแค้นพระไวยที่ไปหลงเสน่ห์นางสร้อยฟ้า (ถูกทำเสน่ห์) ระหว่างที่ยกทัพมาในป่า นางวันทองผู้เป็นแม่ซึ่งตายไปเป็นเปรตต้องการที่จะบอกเรื่องให้พระไวยทราบ ครั้นจะมาปรากฎตัวในสภานนั้นก็เกรงว่าลูกชายจะกลัวจึงแปลงเป็นสาวงามไปดักพบพระไวย
ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
นวลละอองผ่องศรีฉวีขาว พึ่งแรกรุ่นรูปราวกับนางห้าม
มวยกระหมวดกวดเกล้าเหมือนเจ้าพราหมณ์ ใส่สังวาลย์ประจำยามประดับพลอย
น่าเอ็นดูใส่ต่างหูระย้าเพชร แต่ละเม็ดสุกยิ่งกว่าหิ่งห้อย
ใส่แหวนงูมรกตชดช้อย สวมสร้อยปะวะหล่ำกำไล
นุ่งสังเวียนพื้นม่วงดวงทอง ห่มตาลลำยองผ่องใส
ใส่กรอบพักตร์วิเชียรเจียรนัย ทัดดอกไม้พวงเพชรเม็ดพราย
กำไลเท้าทองปลั่งทั้งคู่ แลดูงามเลิศเฉิดฉาย
เยื้องย่างยุรยาตรนาฎกราย ร้องฉุยฉายเสียงเฉื่อยระเรื่อยมา
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย เจ้าช่างจำแลงแปลงกายคล้ายบุษบา
หน้าเป็นใยเหมือนไข่ปอก เจ้าทัดแต่ดอกจำปา
โอ้พระไวยสายใจ อีกสักเมื่อไรจึงจะมา
ฉุยฉายเอย เยื้องย่างเจ้าช่างกรายลอยชายมาในดง
รู้ว่าพ่อไวยจะไปทัพ แม่มาคอยรับคอยส่ง
ชะกระไรหนอใจบิดา จะแกล้งฆ่าให้ปลดปลง
ร้องแม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาคร
ร่างเจ้าเอี่ยมอรชร เหมือนกินนรไกรลาศ
ใส่กรอบพักตร์ประดับเพชร บั้นเอวเจ้าจะเด็ดขาด
พระหมื่นไวยจวนใจสวาท ด้วยโฉมประหลาดตาเอย
แม่ศรีเอย แม่ศรีเสาหงส์
เยื้องย่างมากลางดง เหมือนหนึ่งหงส์เหมราช
ผิวเจ้างามเมื่อยามพิศ งามจริตเมื่อยามผ่าน
อ่อนระทวยนวยนาฎ เยื้องยาตรมาเอย
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็วลา
จันทกินรี
การแสดงชุดนี้ สมเด็จพระพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทรวิชัย ทรงพระราชนิพนธ์จันทรกินรีคำฉันท์ของเก่า เนื้อเรื่องย่อมีดังนี้
เช้าวันหนึ่งกินรีและกินราสองผัวเมีย พากันไปเที่ยวป่า ขณะนั้นท้าวพรหมทัตต์ผู้ครองกรุงพาราณสีพาบริวารมาไล่เนื้อ ครั้นแลเห็นนางกินรีเข้าก็เกิดนึกรัก แต่ติดด้วยกินราสามีของนาง พระองค์จึงได้แผลงศรไปฆ่ากินราตาย นางกินรีก็สลบไป ท้าวพรหมทัต์ก็ช่วยแก้ไขให้นางกินรีฟื้นคืนสติขึ้นมา แล้วเกี้ยวพานางต่างๆ นางกินรีก็มิได้ปลงใจ ท้าวพรหมทัตต์จึงสั่งเข้าล้อมจับ นางกินรีก็บินหนีไปอยู่บนยอดไม้ ท้าวพรหมทัตต์หมดหนทางจึงพาบริวารกลับ นางกินรีโศกเศร้ารำพรรณถึงสามีมิหยุด ร้อนถึงเทวดาต้องมาช่วยแก้ไข จนกินราฟื้นขึ้นมา
กินนรรำ
อากาศดีวันนี้ไม่มีฝน น้องจะใคร่ได้ยลเหล่าพฤกษา
ต้องการใดแม้นแถลงแจ้งกิจจา พี่ยาจะทำให้ทุกประการเอย
กรุณาพาน้องไปเที่ยวป่า จะได้เก็บมาลาสนุกสนาน
ยินดีที่จะเห็นน้องเบิกบาน เยาวมาลย์เชิญมาจะพาชมเอย
เพลงเร็วลา
เพลงหน้าพาทย์ปฐม
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับการจัดทัพของแม่ทับนายกอง ฝ่ายพระรามตัวแสดงคือ สุครีพ ถ้าบนสวรรค์ก็คือ มาตุลี ถ้าเป็นฝ่ายยักษ์คือ มโหทร
เพลงหน้าพาทย์เชิดนอก (หนุมานจับนางเบญจกาย)
เป็นการแสดงประกอบกิริยาที่มิใช่มนุษย์ไล่จับกัน เช่น ตัวหนุมานจับนางเบญจกาย เพลงเชิดนอกนี้ประดิษฐ์ไพเราะเป็นผู้แต่ง การบรรเลงเพลงมักใช้ปี่เดี่ยว หรือเดี่ยวระนาดเอก
มโนราห์ราบูชายันต์
มโนราห์บูชายันต์มาจากละครชาตรีเครื่องใหญ่ (ทรงเครื่อง) เรื่องมโนราห์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ปรับปรุงและนำออกแสดง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
บุษบาชมศาล
เป็นการแสดงที่อยู่ในละครเรื่องอิเหนา ตอน ตัดดอกไม้ฉายกริช พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
บุษบาชมศาล
เพลงเร็ว – ลา
โอศาลงามประเสริฐเพริดแพรว ล้วนแล้วด้วยอุไรไพรจิตร
พระวิมานสามหลังดังนฤมิต มีระเบียบต่อติดไว้เป็นวงกง
พื้นสะอาดลาดล้วนศิลาเลียน แลเตียนไม่มีธุลีผง
ที่สถานลานวัดจังหวัดวน บรรจงปรายโปรยโรยทราย
รุกชาติดาษดาน่าชม รื่นร่มใบบังสุริฉาย
น่าเที่ยวน่าเล่นเย็นสบาย มาเถิดมารำถวายเทวา
เพลงคำหวาน
จะจับระบำรำฟ้อน ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา
ให้งามงอนอ่อนจริตกิริยา ดังกินราลงเล่นชลธี
ลดเลี้ยวเที่ยวท่องให้คล่องแคล้า ซ้อนจังหวะประเท้าให้ถี่ถี่
รำเรียงเคียงคู่ให้ดูดี ให้เป็นที่สนุกสุขสำราญ
เพลงแขกบรเทศ
จะร้องเรื่อยรับขับครวญ โหยหวนสำเนียงเสียงประสาน
บำเรอเทวาหน้าพระลาน ให้กังวานเพราะพร้อมก้องระงม
แม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวสะ
ยกมือไหว้พระ แล้วจะมีคนชม
คิ้วเจ้าก็ต่อ ทั้งคอเจ้าก็กลม
ดูไม่ลืมปลื้มอารมณ์ ชมแม่ศรีเอย
เพลงเร็ว-ลา
เพลงหน้าพาทย์กลม
เป็นเพลงที่ใช้สำหรับไป – มาของเทพเจ้าเช่น พระนารายณ์ พระวิษณุกรรม พระอรชุน สำหรับมนุษย์ ที่ใช้เพลงนี้ก็คือ เจ้าเงาะ ในเรื่องสังข์ทองเพราะสามารถเหาะได้อย่างเทวดา
เพลงญานี
มาจะกล่าวบทไป ถึงพระอรชุนแกล้วกล้า
แจ้งว่าเทพบุตรนางฟ้า ชวนกันมาเล่นก็ยินดี
เพลงเหาะ
อ่าองค์สอดทรงเครื่องประดับ หัตถ์จับพระขรรค์ชัยศรี
ออกจากวิมานรูจี ไปยังที่ประชุมเทวัญ
กลม
รำเมขลา – รามสูร
ในวสันตฤดู เทพธิดาเมขลาจะเสด็จออกจากวิมาน เพื่อมาสนุกสนานร้องรำกับเหล่าเทพบุตร เทพธิดาเมขลามีของวิเศษประจำตัวคือลูกแก้ว ซึ่งนางก็นำออกมาล่นด้วย ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งชื่อรามสูรซึ่งมีขวานวิเศษ ได้เหาะผ่านมาในบริเวณนั้น เกิดมีความพึงพอใจอยากได้ลูกแก้วของนางเมขลา จึงเข้าไปเพื่อจะยื้อแย่งเอามา ฝ่ายนางเมขลาก็ล้อหลอก แกล้งโยนลูกแก้วให้แสงไปเข้าตารามสูร ยักษ์รามสูรจึงบังเกิดความโกรธเป็นยิ่งนัก ขว้างขวานของตนไปหมายสังหารนางเมขลา แต่นางเมขลาก็หลบไปได้และยังเยาะเย้ยรามสูรอีกด้วย พร้อมกับหลอกล่อโยนลูกแก้วให้แสงกระทบตาตารามสูร ทำให้รามสูรตาฟางมืดมัว แล้วนางเมขลาก็เหาะหนีไป ฝ่ายรามสูรก็มิได้ย่อท้อติดตามนางไปเพื่อแย่งเอาลูกแก้ววิเศษ
ทั้งหมดนี้เป็นนิยายปรัมปราที่ผู้ใหญ่ของไทยเราได้เล่าให้ลูกหลานฟังและเปรียบเทียบว่า เสียงร้องในฤดูฝนนั้นเป็นเสียงที่รามสูรขว้างขวานออกไปเพื่อสังหารนางเมขลา และแสงแปลบปลาบที่เห็นก็คือ แสงของลูกแก้ววิเศษที่นางเมขลาโยนหลอกล่อรามสูรนั่นเอง
กรมศิลปากรได้นำเรื่องราวที่เล่ามานี้ มาแต่งเปฃ้นบทโขนเพื่อนำออกแสดงให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชม ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
การแต่งกาย รามสูรแต่งเครื่องยักษ์สีเขียว เมขลาแต่งเครื่องนางสีน้ำเงิน
ร้องเพลงเชิดฉิ่ง
เมื่อนั้น นวลนางเมขลามารศรี
เลี้ยวล่อรามสูรอสุรี กรโยนมณีจินดา
ทำทีประหนึ่งจะให้แก้ว กรอกแสงพรายแพรวบนหัตถา
ครั้นรามสูรไล่เลี้ยวมา กัลยารำล่ออสุรี
นางแกล้งเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน เวียนไปตามจักรราศี
มือหนึ่งชูดวงมณี ทำทีเยาะเย้ยกุมภัณฑ์
กราวรำ , เชิด
รำกลองยาว
การรำกลองยาวมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เถิดเทิง เทิ่งบองกลองยาว สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นการละเล่นของพวกทหารพม่า ในสมัยที่มีการต่อสู่กันในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและเข้าใจว่าคนไทยนำมาเล่นในสมัย กรุงธนบุรี เพราะจังหวะสนุกสนานเล่นง่าย เครื่องดนตรีก็คล้ายกับของไทยและจังหวะก็ปรับมาเป็นแบบไทยๆ เพื่อประกอบการรำ แต่การแต่งกายก็ยังคงคล้ายรูปแบบของพม่า เช่น โพกหัว แบบพม่า นุ่งโสร่ง เสื้อคอกลมแขนกว้าง แต่บางครั้งก็จะแต่งกายกันตามสบาย โอกาสที่นิยมใช้ในงานรื่นเริง
เซิ้งสวิง
เซิ้งสวิงเป็นการรำที่สนุกสนาน ดัดแปลงการรำที่มาจากการหาปลาของชาวบ้าน ซึ่งอุปกรณ์ในการหาปลาของชาวบ้านมีหลายอย่าง เช่น สวิง แห่ สุ่ม ฯลฯ และภาชนาในการใส่ปลาที่จับได้ คือ ของเซิ้งสวิงเป็นการรำที่ประยุกต์กับมาเรื่อยๆ ฝูงที่ความสนุกสนาน ท่ารำแสดงให้เห็นเป็นการช้อนปลา การจับปลา และการรื่นเริงใจเมื่อหาปลาได้มามาก จังหวะเพลงที่ใช้ประกอบมีทั้งจังหวะเร็ว เร้าใจ และจังหวะช้านิ่มนวล อันเป็นการ ปลดเปลื้องความเหน็ดเหนื่อยจากการหาปลา
เซิ้งกระติ๊บข้าว
เซิ้งกระติ๊บข้าวเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวภูไท ซึ่งเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาช้านานในดินแดนภาคอีสานของประเทศไทย เช่นในเขตจังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง เซิ้งกระติ๊บข้าวนิยมแสดงกันในงานรื่นเริง การแสดงจะเริ่มขึ้นด้วย การแสดงของฝ่ายชายซึ่งจะนำเอาเครื่องดนตรีและเครื่องประกอบจังหวะต่างๆ มาร่วมบรรเลง จากนั้นเหล่าสตรีภูไทวัยต่างๆ จะออกมาเซิ้งแสดงอกัปกิริยาของสตรีภูไท
เชิดฉิ่งเมขลา
เป็นระบำเรื่องที่มีมาแต่โบราณ เป็นชุดเบิกโรงก่อนที่จะแสดงเรื่องใหญ่ เมขลาเป็นชื่อนางฟ้าประจำ ท้องทะเล คือนางสมุทรเทวี ส่วนรามสูรนั้นเป็นยักษ์ที่มีขวานเป็นอาวุธ ซึ่งเข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก ”รามปรศุ” เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า
เมื่อถึงฤดูฝนพวกเทวดาและนางฟ้าต่างก็ออกมาจากวิมาน มาจับระบำรำฟ้อนกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งก็มีทั้งพระอรชุน และนางเมขลามาร่วมอยู่ด้วย ตัวนางเมขลานั้นมีดวงแก้ววิเศษที่นางได้ไปขโมยมาจากพระอินทร์ เมื่อนางเมขลาโยนเล่นก็เกิดเป็นแสงแวววับ ฝ่ายยักษ์รามสูรผ่านมาพบเข้าก็อยากจะได้ จึงได้เข้าแย่งแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงได้ใช้ขวานขว้าง จนเกิดเป็นเสียงกึกก้องกัมปนาท ส่วนนางเมขลาก็หลบล่อและใช้ลูกแก้วล่อหลอกโดยแกว่งลูกแก้วให้แสงเข้าตารามสูร (เรื่องเมขลารามสูรนี้ เป็นตำนานการเกิดฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ฟ้าร้องนั่นเอง)
บทรับร้องในชุดนี้ ได้ปรับปรุงและตัดทอนมาจากพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์สำนวนของรัชกาลที่ 1 ส่วนเพลงดนตรีประกอบระบำ เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาทรงบรรจุไว้แต่เดิม ด้วยการเริ่มตั้งแต่นั่งวิมานของนางเมขลา
ร้องเพลงรื้อร่าย
เมื่อนั้น โฉมศรีมณีเมขลา
อยู่ในวิมานรัตนา สำหรับรักษาสมุทรไท
เคยไปประชุมด้วยเทวัญ เป็นนิจนิรันดร์หาขาดไม่
ครั้นถึงฤดูกำหนดไว้ อรทัยชื่นชมยินดี
จึงอ่าองค์ทรงเครื่องอาภรณ์ งามงอนจำรัสรัศมี
มือถือดวงแก้วมณี เทวีก็ออกจากวิมาน
เชิดฉิ่ง
เมื่อนั้น นวลนางเมขลามารศรี
เลี้ยวล่อรามสูรอสุรี กรโยนมณีจินดา
ทำทีประหนึ่งจะให้แก้ว กรอกแสงพรายแพรวบนหัตถา
ครั้นรามสูรไล่เลี้ยวมา กัลยารำล่ออสุรี
นางแกล้งเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน เวียนไปตามจักรราศี
ซัดไหว้ครูชาตรี
เป็นการรำที่ปรับปรุงมาจากการรำซัดไหว้ครู ของละครโนราห์ – ชาตรี ซึ่งเป็นละครรำที่เก่าแก่ของไทย การรำซัดไหว้ครูนี้ เดิมตัวนายโรงจะเป็นผู้รำไหว้ครูเบิกโรงเสียก่อน ต่อมาทางกรมศิลปากรได้นำมาดัดแปลงให้มีผู้รำทั้งขายและหญิง เพื่อให้น่าดูยิ่งขึ้น แต่ก็ยังรักษาจังหวะอันเร่าร้อนของเดิมไว้ ซึ่งเป็นที่นิยมกันต่อมา ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ คุณครูมัลลี คงประภัสร์ (ครูหมัน) คุณครูลมุล ยมะคุปต์
บทไหว้ครูมโนราห์ – ชาตรี
บทสรรเสริญครู
คุณเอ๋ยคุณครู เหมือนฝั่งแม่น้ำพระคงคา
ขิ่นขิ่นจะแห้งก็ไหลมา ยังไม่รู้สิ้นรู้สุด
สิบนิ้วจะยกขึ้นดำเนิน สรรเสริญคุณพระพุทธ
จำศีลเสียแล้วให้บริสุทธิ์ ไหว้พระเสียแล้วจะสวดมนต์
จะไหว้พระพุทธพระธรรมเจ้า ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม
เล่นไหนดีมีคนรัก หยุดพักให้ดีมีคนชม
ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม ถวายบังคมทุกราตรี
รักเอ๋ยลูกยอไหว้ คุณไหมหาโยคี
ขอศัพท์ขอเสี่ยงลูกเกลี้ยงดี จะร้องกล่าวคำกล่าวจิต
กลางคืนจะไหว้พระจันทร์เจ้า เช้าเข้าจะไหว้พระอาทิตย์
บทบาทพลาดพลั้งลูกยังร้องผิด ผิดน้อยจะขอสมา
ขอศัพท์ขอเสียงลูกดังก้อง เหมือนฆ้องขวาหล่อใหม่
ขอศัพท์ขอเสียงลูกเกลี้ยงใจ ไหลไปเป็นท่อธาราเอย
ออกรำซัด
ลงสรงโทน
เป็นการแสดงชุดหนึ่งในการแสดงละครเรื่อง “อิเหนา” ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยก็ประดิษฐ์ท่า จนมีความสวยงามสง่าเป็นอย่างยิ่ง
เพลงโทนลงสรง
ทรงภูษาแย่งยกกนกกระหนาบ ฉลององค์เข้มขาบคอกริช
ห้อยหน้าปักทองกรองดอกชิต สังวาลย์วัลย์วิจิตรจำรัสเรือง
ทับทรวงพวงเพชรเม็ดแตง ทองกรแก้วแดงประดับเนื่อง
ธำมรงค์รจนาค่าเมือง อร่ามเรืองเพชรรัตน์ตรัสไตร ทรงมงกุฎกรรเจียกจอนสุวรรณ วาวแววแก้วกุดั่นดอกไม้ไหว
ห้อยอุบะบุหงามาลัย เหน็บกริชฤทธิไกรแล้วไคลคลา
ปี่พาทย์ทำเพลงเสมอ
ฉุยฉายเบิกโรงดอกไม้เงิน – ทอง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนการแสดงโขนและละครใน จะมีการรำเบิกโรงขึ้นชุดหนึ่ง คือ เบิกโรงดอกไม้เงิน – ทอง แทนชุดการรำประเลง ซึ่งมือถือหางนกยูง สมมติว่าเป็นเทพบุตรและเทพธิดา รำดอกไม้เงินทอง เพื่อเป็นศิริมงคลและเชิดชูพระเกียรติ แต่เดิมรำบทเชิดฉิ่งเทพบุตรก่อน แล้วจึงรำบทฉุยฉาย ต่อมาคุณครูลมุล ยมะคุปต์ และคุณครูเฉลย คู่ขะวนิช ได้นำมาฝึกซ้อมนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เพื่อจัดทำกิจกรรม จึงคัดลอกตัดบทรำเฉพาะบทฉุยฉายและแม่ศรีให้เหมาะสมกับเวลาแสดง
รำดอกไม้ เงิน – ทอง (พระใช้เพลงกลม)
เมื่อนั้น ไทท้าวเทพบุตรบุรุษสอง
มือถือกิ่งไม้เงินทอง ป้องหน้าออกมาว่าจะรำ
เบิกโรงละครในให้ประหลาด มีวิลาศน่าชมคมขำ
ท่าก็งามตามครูดูแม่นยำ เป็นแต่ทำอย่างใหม่มิใช่ฟ้อน
หางนกยูงอย่างเก่าเขาเล่นมาก ไม่เห็นหลากจืดตามาแต่ก่อน
คงแต่ท่าไว้ให้งามตามละคร ที่แต่งตนก้นไม่งอนเหมือนโบราณ
รำไปให้เห็นเป็นเกียรติยศ ปรากฏทุกตำแหน่งแหล่งสถาน
ว่าพวกฟ้อนฝ่ายในใช้ราชการ สำหรับพระภูบาลสำราญใจ
ย่อมช่วงใช้กิ่งไม้เงินทอง ไม่เหมือนของเขาอื่นที่ถิ่นถม
ถึงผิดอย่างไปใครเลยจะไม่ชม ควรนิยมว่าเป็นมงคลเอย
ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง (นาง)
ฉุยฉายเอย สองนางเนื้อเหลืองย่างเยื้องกรีดกราย
ห่มผ้าหน้าปักชาย ผันผายมาเบิงโรง
มือถือกิ่งไม้เงินทอง เป็นของสง่าอ่าโถง
ได้ฤกษ์งามยามโมง จะชักโยงคนมาดู
การฟ้อนละครใน มิให้ผู้ใดมาเล่นสู้
ล้วนอร่ามงามตรู เชิดชูพระเกียรติเอย (รับ)
แม่ศรี
สองแม่เอย แม่งามหนักหนา
เหมือนหนึ่งเทพธิดา ลงมากรายถวายกร
รำเต้นเล่นดูดี ยิ่งกว่ามีมาแต่ก่อน
เว้นแต่ท้ายไม่งอน ไม่เหมือนละครนอกเอย (รับ)
สองแม่เอย แม่งามแม่งอน
มิ่งแมนแขนอ่อน อ้อนแอ้นประหนึ่งวาด
ไหล่เหลี่ยมเสงี่ยมองค์ คิ้วเป็นวงผิวสะอาด
ดังนางในไกรลาส ร่อนลงมารำเอย (รับ)
เพลงหน้าพาทย์สาธุการ
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ในการแสดงความเคารพพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งครูอาจารย์และเทพยดาทั้งหลาย นอกจากใช้บรรเลงประกอบการรำแล้ว การแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อจบกัณฐ์ทศพรแล้ว ก็จะบรรเลงเพลงนี้ หรือเมื่อพระสงฆ์เทศน์จบ ก็ใช้เพลงนี้เช่นเดียวกัน ผู้แสดงที่ใช้เพลงนี้รำ ใช้ได้ทั้งพระ นาง ยักษ์
เชิดฉาน
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับตัวแสดงที่เป็นพระติดตามสัตว์ เช่น พระรามตามกวาง ย่าหลันตาม นกยูงเป็นต้น
คุกพาทย์และรัวสามลา
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับการแผลงฤทธิ์สำแดง หรือแสดงอารมณ์โกรธอย่างดุดันน่าเกรงขามของตัวแสดงทุกตัว
ระบำนางกอย
เป็นระบำชุดหนึ่งที่อยู่ในละครเรื่อง“เงาะป่า”บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว มีเนื้อเรื่องย่อว่า
อเนาได้จัดขบวนขันหมากมาสู่ขอนางลำหับ บรรดาเพื่อนของลำหับก็มาช่วยกันจัดเตรียมงานมีสาวเงาะที่จะเข้ามาร่วมพิธีของอเนากับนางลำหับ
เพลงช้า
ยามชาย พระพายพัดมาระรวย
สาวน้อยน้อยพลอยแต่งสวย จะไปช่วยงานวิวาห์
นำดอกไม้เต็มฝ่ามือ บ้างทัดบ้างถือยื้อแย่งไปมา
กลิ่นของใครหอมฟุ้งขจร ขอดมเสียก่อนเถิดหล่อนจ๋า
ดมดอกกลาดดาษดา น่าเสียดายที่สุดใจ
เจ้าของดอกไม้ว่าอย่านะ ฉันไม่ละว่าใครใคร
มาลักชมดมดอกไม้ จะว่าให้ได้อับอาย
นางเงาะแก่จึงร้องไป ว่าอย่าให้มันมากมาย
ขอเสียเถิดอย่าวุ่นวาย งามจะหายเหงื่อไคลย้อยเอย
โอ้ เฮ เฮ เห่ เฮ เฮ
เพลงเร็ว
ช้าหน่อยแม่นางกอยเอย อย่าทำใจน้อยน่าตาบูดบึ้ง
ยิ้มเสียให้แฉ่งอย่าแสร้งมึนตึง ช้าหน่อยแม่นางกอยเอย
ช้านิดแม่ชื่นจิตเอย อย่าใส่จริตกระตุ้งกระติ่ง
ดอกไม้หอมกรุ่นฉุนหรือจะทิ้ง ช้านิดแม่ชื่นจิตเอย
ช้าอืดแม่นางอืดเอย ตามกันเป็นยืดยักไหล่ฟ้อนรำ
อย่าให้ช้านักจะเสียลำนำ ช้าอืดแม่นางอืดเอย
ช้าไว้แม่ชื่นใจเอย ระวังอกไหล่อย่าให้ปะทะ
จะเกิดรำคาญขี้คร้านเอะอะ ช้าไว้แม่ชื่นใจเอย
ถึงแล้วแม่แก้วตาเอย เหนื่อยพักหรือจ๋าเหงื่อตกซิกซิก
หยุดพักเสียทียังมีบทอีก ถึงแล้วแม่แก้วตาเอย
การใช้อาวุธ
รำกริช
กริช เป็นอาวุธสำคัญของชาวชวา ซึ่งต่อมาชาวมลายูและชาวหมู่เกาะอินโดนีเซียอื่นๆก็นิยมนำมาใช้ด้วย นอกจากถือว่าเป็นอาวุธสำคัญสำหรับต่อสู้ศัตรูป้องกันตัวแล้ว ชาวมลายูยังถือว่าเป็นเครื่องประทับอันมีสง่าและทรงเกียรติ เช่นเดียวกับชาวยุโรปถือว่าการพาดกระบี่มีสง่าภาคภูมิเมื่อสมัยคริสตศตวรรษที่ 18 ฉะนั้นชาวมลายูถึงกับถือเป็นคติว่า สมบัติ 3 อย่างที่ผู้ชายจำเป็นต้องมีจะขาดเสียไม่ได้คือมีบ้านดี มีเมียดี และมีกริชดีน่าจะเป็นเพราะกริชเป็นทั้งอาวุธและสมบัติสำคัญเช่นนี้ ชาวชวามลายูจึงมีวิธีและท่าทางในการใช้ “เพลงกริช” เกิดขึ้นมากมายจนกลายเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง อย่างที่กล่าวไว้ในบทละคร เรื่อง อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ว่า
อันเพลงกริชชวามลายู กูรู้สันทัดไม่ขัดสน
คิดแล้วชักกริชฤทธิ์รณ ร่ายรำทำกลมารยา
กรขวานั้นกุมกริชกราย พระหัตถ์นั่นถือเช็ดหน้า
เข้าประทะประกริชด้วยฤทธา ผัดผันไปมาไม่ครั่นคราม
ถ้าท่านได้เคยเห็นการรำกริชจริงๆ ของชาวชวามลายูมาบ้าง ก็คงจะระลึกเปรียบเทียบกันได้กับท่าที่ดัดแปลงมา แต่การรำกริชที่แสดงให้ท่านชมนี้ เป็นการรำอย่างแบบละครรำ ซึ่งได้ดัดแปลงบทบาท ท่าที และ วงก้าน ให้งดงามตามแบบนาฏศิลป์ไทย ถือกันว่าเป็นท่ารำที่สวยงามและมีจังหวะเร่งเร้าใจของผู้ดูเป็นอย่างยิ่ง รู้สึกประหนึ่งว่า ผู้แสดงจะโจนจ้องทะลวงแทงศัตรูผู้มุ่งร้ายชีวิตของตนในทันทีทันใด ทั้งนี้เกิดจากจังหวะเร่งเร้าของเสียงปี่เข้าประกอบด้วย ถ้าขาดเสียงปี่ไปเสีย ก็จะทำให้รู้สึกจืดชืดไป พึงสังเกตและฟังเสียงเพลงปี่ไปด้วย
พลอง
พลอง เป็นไม้กลมวัดผ่าศูนย์กลางขนาด 2 นิ้วฟุต และยาว 4 ศอกหลวง (ราว 2 เมตรเศษ)ใช้เป็นทั้งอาวุธทำร้ายศัตรูและทั้งป้องกันตัวในขณะเดียวกัน ศิลปะแห่งการใช้พลอง ตามเพลงอาวุธที่ฝึกหัดวิธีใช้ไว้ตามแบบแผนของครูนั้น ผู้ใช้จะต้องได้รับการฝึกหัดมาอย่างชำนิชำนาญ เช่นเดียวกับหัดใช้กระบี่และดาบ แต่ศิลปะแห่งการใช้ไม้พลอง มีวิธีแตกต่างกับการใช้กระบี่และดาบเป็นอันมาก ในสมัยโบราณปรากฏว่าชายฉกรรจ์ของไทยนิยมฝึกหัดกันไว้สำหรับใช้สู้รบในสงครามและป้องกันตัว แต่บางโอกาสคู่ต่อสู้ถือพลองคนละอันแล้วประลองฝีมือแสดงการต่อสู้อวดกันอยู่เนือง ๆ
รำทวน
รำทวนเป็นศิลปะการรบบนหลังม้าด้วยอาวุธยาวของไทย ในสมัยโบราณได้จัดตั้งเป็นกรมทหารใหญ่ 2 กรม เรียกว่า กรมทวนทองซ้าย – ขวา นับอยู่ในจำพวกกรมอาสาแปดเหล่า เจ้ากรมเป็นนายพลมีศักดินา 1,600 เคยปรากฏว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทย ทรงมีความสามารถใช้เพลงทวนบนหลังม้า ต่อสู้ข้าศึกศัตรูได้อย่างคล่องแคล้วชำนิชำนาญดังเป็นที่ปรากฏพระเกียรติอยู่ในราชพงศาวดารไทย เมื่อคราวทรงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมทหารเอกของพระเจ้าหงสาวดีตาย เมื่อครั้งลักไวทำมคุมทหารทศเข้าล้อมรุมรบ พระองค์ คราวพม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2129
การรำทวนที่นำมาแสดงในละคร เป็นท่ารบประกอบท่ารำที่ได้ปรับปรุงให้สวยงามตามแบบนาฏศิลป์ทางละครและดนตรีไทย ตามปกติเวลาตัวละครแต่งตัวรำทวน มักจะผูกแผงรูปม้าติดอยู่ที่สะเอวด้วย และบางตอนก็จะเห็นตัวละครเต้นขยับย่างเป็นท่าม้าเขย่ง ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าเลียนแบบอย่างการเต้นของม้านั่นเอง เพราะสมมุติว่าผู้รำทวนกำลังนั่งรบกันอยู่บนหลังม้า
ระบำตรีลีลา
เป็นระบำอีกชุดหนึ่งที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงขึ้น โดยจัดเพลงและท่าฟ้อนทั้ง 3 แบบมาประสานให้ติดต่อเป็นชุดเดียวกัน คือ
ฟ้อนเทียน ใช้เครื่องดนตรีของภาคพายัพ มีกลอง แอ่วและปี่
ฟ้อนแพน ปรับปรุงมาจากท่าฟ้อนของภาคพายับและภาคอีสาน นิยมใช้กับเดี่ยวจะเข้
ฟ้อนเงี้ยว ดัดแปลงมาจากท่าฟ้อนของชาวไทยใหญ่หรือพวกเงี้ยวที่อยู่ชายแดนของประเทศไทย
ระบำม้า
ระบำชุดนี้ประดิษฐ์เป็นครั้งแรกเพื่อประกอบการแสดงละครเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ตอน “นารายณ์ธิเบศร์ไปเล่นป่า” เนื่องในงานการแสดงผลงานของนักเรียนนาฏศิลป์ ในการปิดภาคต้น เมื่อ พ.ศ. 2492 ต่อมา พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้จัดแสดงละครเรื่อง “รถเสน” ให้ประชาชนชม จึงได้ปรับปรุงท่ารำและทำนงเพลงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมอบให้อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นผู้ปรับปรุงทำนองเพลงคุณครูลมุล ยมะคุปต์ คุณครูมัลลี คงประภัศร์ คุณครูผัน โมรากุล (เสียชีวิตทั้ง 3 ท่าน) เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ สำหรับเพลงประกอบจังหวะและท่ารำของระบำชุดนี้คือ “เพลงม้าโขยก”
ระบำครุฑ
เป็นระบำที่ปรับปรุงขึ้นมาจากบทร้องที่เป็นบทชมครุฑ ในละครเรื่อง อุณรุท พะราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เพลงร้องสำหรับระบำชุดนี้เป็นทำนองของเก่า ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายชื่อเพลง “ตุ้งติ้ง” ในวรรณคดีไทย ครุฑเป็นสัตว์ประเภทพญานก และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ระบำครุฑจะเริ่มด้วย บรรดา พญาครุฑออกมาร่ายรำเพลงหน้าพาทย์คุกพาทย์ แล้วจะร่ายรำตามลีลาและบทร้องแวดล้อมพระนารายณ์ ผู้ทรงครุฑที่เป็นราชพาหนะอย่างสวยงาม
เพลงตุ้งติ้ง
ครุฑเอยครุฑทรง ควรอาสน์คู่องค์พระทรงสินธ์
เผ่นผงาดผาดผยองเผยอบิน สะท้านดินสะเทื้อนดงพงไพร
ลอยลิ้วปลิวโพยมพยับคลุ้มเม เมฆเกลื่อนหมอกคลุ่มอุทัยไข
ถีบลาถาร่อนมาไวไว ข้ามไพรเขตพฤกษ์คิรินทร
พันแดนแผ่นดินถิ่นมนุษย์ โบยบินรีบรุดไม่หยุดหย่อน
ลุล่วงหัวงมหาสาคร ข้ามเขตสิงขรหิมพานต์
นาทีหนึ่งเที่ยวทั่วรอบ สุดขอบไพรศาล
ทั่วแคว้นจังหวัดจักวาล แสวงมุ่งกรุงมารพารา
เซิ้งสัมพันธ์
เซิ้ง เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการละเล่นได้แก่ แคน กร๊อบแกร๊ป โหม่ง กลองเตะและกลองยาว ลีลาของการเซิ้งจะกระฉับกระเฉงแคล้วว่องไว ทั้งนี้เพื่อมุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลิน และผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื้อยหล้าจากการตรากตรำทำงาน กระบวนการเล่นเซิ้ง ส่วนใหญ่จะนำเอากิจกรรมอาชีพหลักมาประกอบด้วย เช่น นำอาชีพการจับปลา โดยใช้สวิงมาประดิษฐ์เป็นลีลาการเล่นเซิ้งสวิง นำเอาอัปกริยาของผู้หญิงชาวบ้านที่นำเอาอาหารใส่กระติบข้าวไปส่งให้สามีหรือญาติพี่น้องที่อยู่กลางไร่นา มาเป็นลีลากระบวนจังหวะกลอง คุณครูลมุล ยมะคุปต์ และคุณครูเฉลย ศุขะวณิช เป็นผู้ปรับปรุงลีลาท่ารำ
ฟ้อนรัก
เป็นการแสดงชุดหนึ่งของการแสดงเรื่อง พระลอ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลงมาจาก ลิลิตพระลอ เนื้อเรื่องย่อมีดังนี้
พระลอกษัตริย์เมืองหลวง ได้ปลอมตัวเป็นพราหมณ์ชื่อ รีเกษ เสด็จตามมัคคุเทศก์คือ ไก่แก้วของปู่เจ้าสมิงพราย เข้าไปในพระราชอุทยานเมืองสองพร้อมนายแก้วนายขวัญสองพี่เลี้ยง นายแก้วนายขวัญได้ไปพบนางรื่นนางโรยนางพี่เลี้ยงพระเพื่อนพระแพง พระธิดาของท้าวพิษนุกรเจ้าผู้ครองเมืองสอง จึงได้เข้าไปเกี้ยวนาง พี่เลี้ยงทั้งสอง
ปี่พาทย์เพลงเร็ว – ลา
เพลงสาวสวยรวย
สองพี่เลี้ยงแม่เอยหลากจิต สงสัยคิดประหลาดใจ
หรือพระลอพระลอหน่อไท้ ท่านแกล้งเป็นพราหมณ์เอย
ศิษย์ทั้งคู่พี่เลี้ยงพระลอแก้ว เห็นหาแคล้ว
หาเคล้าปู่ทาย สมหมายแล้วเอย
สองมองเมินหาหนุ่มอะคร้าว เห็นใครน้ามเพิงพุ้ม
สองพี่เลี้ยงสองเมียงตะคุ่ม ลุมทุมพฤกษาโพ้นเอย
โน่นนายขวัญนั่นนายแก้ว แน่แล้วบ่สงกา
เดี๋ยวหวนหลบหวนหลบเลี่ยงหน้า ซ่อนหาอยู่ไวไวเอย
ของนวลแม่เอยรื่นโรย สาวชายโชยตามจับ
สองพี่เลี้ยงสองมองเมียงขยับ พลับหายมให้เห็นเอย
ลอสาวสองเผลอไล่เผลอ แต่หมายมุ่งตามไป
เห็นหลงใหลหลงใหลได้ช่อง ปล่อยให้สองเจาะเอย
ร้องลาวดำเนินทราย
สองนางงามก็เล้าโลมถาม พี่เลี้ยงเฉลย
ชะคนเคยบ่ายเบี่ยง เลี่ยงหลอกหลอน
เผื่อจากเมืองบุรีรัมย์มยะนคร มโนห่อน น้อ
มโนห่อนเที่ยวค้า มากับพราหมณ์
โอ้ว่าปากเอ๋ยปาก ปากเอ๋ยข่อยอยากจะหยิก
ทำกลับกลอกหลอกแพงพลิก หัวใจริกริกเคืองเอย
ช่างใส่สีทำคดีอำพราง สองนายเอยเขาถึงรู้
ถึงใจพี่เพี้ยงเอ๊ะถึงพี่จะเลี้ยง สุดที่จะเถียงแล้วเอย
ออกซุ้ม
วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น