เพลงต้นเข้าม่าน - ปลายเข้าม่าน
ประวัติที่มา
เพลงหน้าพาทย์ต้นเข้าม่าน – ปลายเข้าม่าน เป็นเพลงสำหรับประกอบกิริยาไปมา ของตัวละครต่ำศักดิ์ เช่น นางกำนัล สาวใช้ หรือเทพบริวารไปกราบทูลเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ เป็นต้น โดยนำท่ารำจากแม่บทใหญ่ มาประดิษฐ์ให้ลีลาต่อเนื่องกันอย่างสวยงาม ได้แก่ บัวชูฝัก บัวชูฝัก ผาลาเพียงไหล่ กินนรรำ สอดสูง เป็นต้น และได้บรรจุไว้ในนาฏศิลป์ชั้นกลาง
เพลงชุมนุมเผ่าไทย
ประวัติที่มา
ระบำชุดนี้เป็นระบำนำละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ บทประพันธ์ของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ จัดแสดงเมื่อ พ.ศ.2498 บทร้องโดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ทำนองเพลงแต่งและเรียบเรียงโดย ผู้เชี่ยวชาญดุริยางไทยของกรมศิลปากร คือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ทำนองเพลงร้องจะแตกต่างกันไปตามสำเนียงไทยเผ่าต่างๆ โดยมีไทยกลางซึ่งแต่งขึ้นใหมาเป็นเพลงเชื่อมให้มีความสำพันธ์กัน กล่าวคือ
ไทยลานนา ใช้ทำนอง เพลงแน (ของเก่า )
ไทยใหญ่ ใช้ทำนอง เพลงเงี้ยว (ของเก่า )
ไทยลานช้าง ใช้ทำนอง เพลงฝั่งโขง (ของเก่า )
ไทยสิบสองจุไทย ใช้ทำนอง เพลงสิบสองปันนา (แต่งใหม่)
ไทยอาหม ใช้ทำนอง เพลงอาหม (แต่งใหม่)
บทร้องระบำชุมนุมเผ่าไทย บรรยรยให้ทราบถึงชนชาวไทยเผ่าต่างๆที่ได้อพยพ แยกย้ายกันลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในส่วนต่างๆของแหลมทอง ดังนี้
1. ไทยกลาง คือ คนไทยในประเทศไทย
2. ไทยลานนา คือ คนไทยในภาคเหนือของไทย
3. ไทยใหญ่ คือ คนไทยในแคว้นฉานของพม่า
4. ไทยลานช้าง คือ คนไทยที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว
5. ไทยสิบสองจุไทย คือ คนไทยที่ในแคว้นสิบสองจุไทย ประเทศเวียดนาม
6. ไทยอาหม คือ คนไทยในแคว้นอาหมอยู่ติดกับปากีสถาน
ระบำชุมนุมเผ่าไทยเหมาะสำหรับให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือเป็นชุ
การแสดงวิพิธทัศนาในกิจกรรมเสริมหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคืออาจารย์ลมุล ยมะคุปต์ และคุณครูผัน โมรากุล แต่งกายออกแบบสร้างโดยอาจารย์ชิ้น ศิลปบรรเลง และต่อมาอาจารย์ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายใหม่เพื่อถ่ายปฏิทินเซลล์
เครื่องดนตรีที่ใช้
1. แต่เดิมที่ใช้ประกอบการแสดงละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ
2. ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ตามความเหมาะสม
บทร้อง
ระบำชุมนุมเผ่าไทย
ไทยลานนา นี่พี่น้องของเราไทยลานนา อยู่ด้วยกันนานมาแต่ก่อนเก่า
ได้ร่วมแรงร่วมใจคู่ไทยเรา เป็นพงศ์เผ่าญาติและมิตรแท้
ไทยใหญ่ นี่ไทยใหญ่อยู่ใกล้ใกล้ทางทิศเหนือ เป็นชาติเชื้อพี่ชายของไทยแน่
ยังรักษาความเป็นไทยไม่ผันแปร ขยายแผ่สาขาตระกูลไทย
ไทยลานช้าง นี่คือไทยลานช้างอยู่ ข้างเคียง เคยร่วมเรียงอยู่เป็นสุขทุกสมัย
แม่น้ำโขงกั้นเขตประเทศไว้ แต่ไม่กั้นดวงใจที่รักกัน
ไทยสิบสองจุไทย นี่พี่น้องชาวสิบสองจุไทย เป็นพี่ใหญ่แน่แท้ไม่แปรผัน
ต้นเชื้อสายไทยน้อยแหล่งสำคัญ ครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ขุนบรม
ไทยอาหม นี่พี่น้องพวกสุดท้ายที่เข้ามา ก็เป็นไทยที่ชื่อว่าไทยอาหม ล้วนเลือดเนื้อเชื้อไทยใฝ่นิยม ให้อาณาประชาคมไทยสมบูรณ์
โอกาสที่ใช้ในการแสดง
1. ใช้แสดงเป็นระบำฉากนำละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ
2. ใช้แสดงในงานรื่นเริง
ลักษณะเครื่องแต่งกาย
ไทยกลาง นุ่งผ้ายก ห่มสไบ( ห่มสไบตาดทอง ปัจจุบันห่มสไบพรีช และห่มผ้าปักทับ) ผมเกล้าครึ่งศรีษะทัดดอกไม้ สวมเครื่องประดับ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู สร้อยตัว กำไลเท้า
ไทยลานนา นุ่งผ้าซิ่นบายขวางแบบทางเหนือ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้าผมติดอุบะ ทัดดอกไม้ สวมเครื่องประดับ
ไทยใหญ่ นุ่งผ้าซิ่นต่อลายใหญ่ สวมเสื้อแขนยาวสามส่วน มีผ้าโพกศรีษะ สวมเครื่องประดับ
ไทยลานช้าง นุ่งผ้าซิ่นลาว สวมเสื้อเกาะอก มีผ้าคลุมไหล่ ผมเก้ามวยสูงใส่เกี้ยว สวมเครื่องประดับ
ไทยสิบสองจุไทย นุ่งผ้าถุงยาว ผ่าข้าง สวมเสื้อแขนกระบอกติดกระดุมป้ายข้างแบบจีนมีผ้าคล้องและคาดเอว ผมเกล้ามวย 2 ข้าง แบบจีน ประดับดอกไม้รอบมวยและสวมเครื่องประดับ
ไทยอาหม นุ่งส่าหรีแบบแขก สวมเสื้อแขนสั้นเอวลอย ผมเกล้ามวยต่ำ สวมเครื่องประดับ
เพลงฟ้อนม่านมงคล
ประวัติที่มา
ฟ้อนม่านมงคลหรือระบำม่านมงคล เป็นระบำชุดหนึ่งอยู่ในละครพันทางเรื่อง ราชาธิราช ตองสมิงพระรามอาสา ซึ่งกรมศิลปากรจัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร ครั้งกรก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2495 อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้แต่งบทร้องและทำนองเพลงขึ้นใหม่จากเพลงพม่าแท้ ๆ เพลงหนึ่ง สำหรับประกอบการฟ้อนรำของหมู่นางระบำสาวชาวพม่า ในฉากที่ 4 ซึ่งเป็นฉากที่ สมิงพระรามแต่างงานกับพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงอังวะ โดยตั้งชื่อเพลงนี้ว่า” เพลงม่านมงคล” คุณครูลมุล ยมะคุปต์(ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย) และคุณครูมัลลี คงประภัศร์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
ดนตรีทีใช้ประกอบการแสดง
นิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมจะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ก็ได้
ถ้าเรื่องใดผสมด้วยท่ารำและเพลงร้อง เพลงดนตรีภาษาอื่น เครื่องบรรเลงในวงปี่พาทย์ก็จะต้องเพิ่มเครื่องอันเป็นสัญญลักษณ์ของเครื่องภาษานั้น ๆ ซึ่งเรียกว่า เครื่องภาษา เครื่องภาษาที่ใช้เพิ่มเข้าไปในวงปี่พาทย์ คือ เครื่องภาษาพม่า มีดังนี้
1. กลองยาวพม่า
2. เครื่องประกอบจังหวะพม่า
3. กลองพม่า
4. เปิงพม่า
เครื่องแต่งกาย
1. นุ่งผ้าป้าย มีเชิงโปร่งยาวกรอมเท้า
2. เสื้อนอกแขนยาว ขอบเอวโค้ง
3. เข็มขัด
4. เสื้อในรัดอก
5. ผ้าคล้องไหล่
6. เครื่องประดับศรีษะผมยาวเกล้าเป็นผมมวยสูง ปล่อยปลายผมด้านขวา
นาฏยศัพท์
1. จีบล่อแก้ว
2. วง
3. ก้าวเท้า
4. ถอนเท้า
5. ย่ำเท้า-ถัดเท้า
โอกาสที่ใช้ในการแสดง
ใช้แสดงในงานรื่นเริง งานมงคล ตามโอกาสที่เหมาะสม
เนื้อร้องเพลงม่านมงคล
ปวงข้าเจ้าเหล่าราชนาฏากร ขอฝ่ายฟ้อนระบำบรรพ์ด้วยหรรษา
สมโภชองค์อุปราชราชธิดา ในมหาพิธีดิถีชัย
ด้วยเดชะบารมีบดีศูรย์ อันไพบูลย์พูนพิพัฒน์นิรัติศัย
จึงอุบัติอุปราชติชาญชัย อรทัยพระธิดาศรีธานี
ขอคุณพระพุทธเจ้า จุ่งมาปกเกล้าเกศี
พระธรรมเลิศล้ำธาตรี พระสงค์ทรงศรีวิสุทธิญาณ
ขอโปรด ธ ประสาท อุปราชธิบดี
พระราชบุตรี วรนาฏนงคราญ
ทรงสบสุขศรี ฤดีสำราญ
ระรื่นชื่นบาน วรกายสกนธ์
พวกเหล่าพาลา ไม่กล้าประจญ
ต่างหวั่นพรั่นตน เกรงพระบารมี
ประสงค์สิ่งใด เสร็จได้ดังฤดี
สถิตเด่นเป็นศรี อังวะนคราฯ
ออกพม่าไสยาสน์
เพลงฟ้อนแคน
ประวัติที่มา
แคนเป็นเครื่องดนตรีของชาวไทยภาคอีสาน ซึ่งใช้บรรเลงเล่นกันเป็นปกติทำนอง
แคนนั้น มีอยู่มากมายหลายเพลง ซึ่งเรียกกันว่า “ ลาย “
เมื่อราวเดือนกันยายน 2527 คุณครูเฉลย ศุขวณิช ผู้เชี่ยว ชาญการสอนนาฏศิลป์
ไทย ของวิทยาลัยนาฏศิลป ได้ปรารภถึงเรื่องฟ้อนแคนของเดิม ซึ่งในปัจจุบันได้นำมาปรับปรุงเป็นชุดเซิ้งสราญไปเสียแล้ว ครูอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ ครูจำเรียง พุธประดับ และคุณครูอุดม อังศุธร ได้ร่วมกับคุณครูเฉลย ศุขวณิช ประดิษฐ์ท่าฟ้อนแคนขึ้นใหม่ ใช้ผู้แสดง ชาย หญิง ฝ่ายชายนั้นเป่าแคน ร่ายรำไปตามทำนองเพลงไทยที่ชื่อว่า “ เพลงลาวราชบุรี “ ออกท้ายด้วยเพลงซุ้ม ( อีสาน ) ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนแคน ชุดเดิมตั้งแต่ปี 2513
การแต่งกาย
หญิง นุ่งผ้าซิ่นสั้นแค่เข่า สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก ห่มสไบ ผมเกล้ามวยสูง ประดับด้วยดอกไม้
ชาย นุ่งผ้าตะโก้ง หยักรั้ง ปล่อยชายชายด้านหลังสวมเสื้อม่อฮ่อม ผ้าขาวม้าคาดเอว และผ้าคาดศรีษะ มือถือแคน
เครื่องดนตรี
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสาน เช่น แคน กั๊บแก๊บ กรับ โหวต
โอกาสที่ใช้ในการแสดง
แสดงในงานรื่นเริง และงานเทศกาลต่างๆ
ใบความรู้เพลงเต้นกำรำเคียว
ที่มาของการแสดง
เต้นกำรำเคียวเป็นเพลงพื้นเมืองของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวนานิยมเล่นกันตามท้องนา ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อถึงฤดูนี้พวกชาวบ้านก็มักจะช่วยกันเก็บเกี่ยวเรียกว่า ลงแขก ในขณะเก็บเกี่ยวก็มักจะร้องรำกัน เพื่อความบันเทิงสนุกสนานปลดเปลื้องการเหนื่อย โดยมากมักจะเล่นเต้นกำรำเคียว ซึ่งผู้เล่นทั้งชายและหญิง ต่างก็ถือเคียวมือหนึ่ง รวงข้าวมือหนึ่ง ร้องเกี้ยวพาราสีกันเป็นที่สนุกสนาน นักร้องและนักรำของกรมศิลปากรได้ไปฝึกมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อพุทธศักราช 2504 และได้แต่งเพลงดนตรีขึ้นประกอบ เพื่อให้เหมาะแก่การที่จะนำออกแสดง
ประวัติที่มา
เต้นกำรำเคียวเป็นเพลงพื้นเมืองของชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์ นิยมเล่นตามท้องนา ในฤดูกาลลงแขกเกี่ยวข้าว ร้องเล่นเพื่อความรื่นเริงสนุกสนานผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย
เมื่อ พ.ศ.2504 ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียวจากชาวบ้าน ตำบลพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่นเพื่อให้เหมาะกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้ นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ แต่งทำนองเพลงประกอบการแสดง ตอนเริ่มต้นก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบ บทร้อง
ผู้แสดงทั้งชายและหญิง มือขวาถือเคียว มือซ้ายกำรวงข้าว ทำท่าตามกระบวนเพลงร้อง เย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน บทร้องมีอยู่ 11 บท คือ บทมา ไป เดิน รำ ร่อน บิน ยัก ย่อง ย่าง แถ ถอง และเพลงในกระบวนนี้ ผู้เล่นอาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับปรับกัน ด้วยความสนุกสนาน บางครั้งในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการรำเต้นกำรำเคียว
ใช้วงปี่พาทย์ บรรเลงเพลงนำ และตอนจบ
โอกาสที่ใช้แสดง
นิยมเล่นตามท้องนาในฤดูกาลลงแขกเกี่ยวข้าว ร้องเล่นเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย
การแต่งกาย
ชาย นุ่งกางเกงขายาว เสื้อคอกลมผ่าอกแขนสั้นเหนือศอก สีน้ำเงินครามผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหามกปีก
หญิง นุ่งผ้าพื้นดำ โจงกระเบน เสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาวสีน้ำเงิน หรือต่างสีสวมงอบ
การแสดงชุดนี้ สามารถแสดงได้โดยไม่จำกัดเวลา
บทร้องเต้นกำรำเคียว
ชาย มาเถิดเอย เอยราแม่มา มารำมาแม่มา มาเถิดแม่นุชน้อง พี่จะเป็นฆ้องให้น้องเป็นปี่ ต้อยตะริดติดตอด น้ำแห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่ มาเถิดนะแม่มามารึมา มาเต้นกำย่ำหญ้า กันในนานี้เอย ( ลูกคู่รับ)
หญิง มาเถิดเอย เอยรา แม่มา มารึมาพ่อมา ฝนกระจายปลายนา แล้วน้องจะมาอย่างไรเอย ( ลูกคู่รับ)
ชาย ไปเถิดเอย เอยรา แม่ไป ไปรึไปแม่ไป ไปชมนกกันที่ในป่า ไปชมพฤกษากันที่ในไพร ไปชมชะนีผีไพร เล่นที่ในดงเอย
หญิง ไปเถิดเอย เอยรา พ่อไป ไปรึไปพ่อไป น้องเดินขยิกจิกไหล่ตามก้นพี่ชาย ไปเอย
ชาย เดินกันเถิดนางเอย เอยรา แม่เดิน เดินรึเดินแม่เดิน ย่างเท้าขึ้นโคก เสียงนกโพระดกมันร้องเกริ่น จะพาหนูน้องไปท้องเนิน ชมเล่นให้เพลินใจเอย
หญิง เดินกันเถิดเอย เอยรา พ่อเดิน เดินรึเดินพ่อเดิน หนทางก็รก ระหกระเหิน แล้วน้องจะเดินอย่างไรเอย
ชาย รำกันเถิดเอย เอยรา แม่รำ รำรึรำแม่รำ ใส่เสื้อเนื้อดี แม่ห่มแต่สีดอกคำ น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย
หญิง รำกันเถิดนายเอย เอยรา พ่อรำ รำรึรำพ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำไปเอย
ชาย ร่อนกันเถิดนายเอย เอยรา แม่ร่อน ร่อนรึร่อนแม่ร่อน รูปร่างเหมือนนางระบำแม่เอ๋ยช่างรำ แม่คุณช่างร่อน อ้อนแอ้นแขนอ่อน รูปร่างเหมือนมอญรำเอย
หญิง ร่อนกันเถิดเอย เอยราพ่อร่อน ร่อนรึร่อนพ่อร่อน สีนวลอ่อนอ่อน ร่อน แต่ลมบนเอย
ชาย บินกันเถิดเอย เอยรา แม่บิน บินรึบินแม่บิน สองตีนกระทืบดิน ใครเอย จะบินไปได้อย่างเจ้า ใส่งอบขาวขาว รำกำงามเอย
หญิง บินกันเถิดนายเอย เอยรา พ่อบิน บินรึบินพ่อบิน มหาหงส์ทรงศิลป์ บินไปตามลมเอย (หรือไม่มีเหล้าจะให้กิน กลัวจะบินไม่ไหวเอย)
ชาย ยักกันเถิดนางเอย เอยรา แม่ยัก ยักหรือยักแม่ยัก ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก หงส์ทองน้องรัก ยักให้หมดวงเอย
หญิง ยักกันเถิดนายเอย เอยรา พ่อยัก ยักหรือยักพ่อยัก อย่าเข้ามาใกล้น้องนัก จะโดนเคียวควักตาเอย
ชาย ย่องกันเถิดนางเอย เอยรา แม่ย่อง ย่องรึย่องแม่ย่อง บุกดงแกรกแกรก สองมือก็แหวกนัยตาก็มอง พบฝูงอีว่อง พวกเราก็ย่องยิงเอย
หญิง ย่องกันเถิดเอย เอยรา พ่อย่อง ย่องรึย่องพ่อย่อง ฝูงละมั่ง กวางทอง ย่องมากินถั่วเอย
ชาย ย่างกันเถิดนางเอย เอยรา แม่ย่าง ย่างรึย่าง เจอะเสือพี่ก็จะยิง เจอกระทิงพี่ก็จะย่าง ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้าง ย่างมาฝากน้องเอย
หญิง ย่างกันเถิดเอย เอยราพ่อย่าง ย่างหรือย่างพ่อย่าง ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้าง ย่างไปฝากเมียเอย
ชาย แถกันเถิดนางเอย เอยรา แม่แถ แถรึแถ แม่แถ จะลงก็หนองไหน ตัวพี่
จะไปหนองนั้นแน่ นกกระสาปลากระแหแถให้ติดดินเอย
หญิง แถกันเถิดนางเอย เอยราพ่อแถ แถรึแถพ่อแถ นกกระสา ปากระหก แถมาลงหนองเอย
ชาย ถองกันเถิดนางเอย เอยรา แม่ถอง ถองรึถองแม่ถอง ค่อยขยับจับจ้อง ถองให้ถูนางเอย
หญิง ถองกันเถิดนางเอย เอยรา แม่ถอง ถองรึถองพ่อถอง กล้าดีก็เข้ามาลอง จะโดนกระบองตีเอย
การแต่งกาย ผู้แสดงแต่งกายพื้นบ้านภาคกลาง
ชาวนาชาย นุ่งกางเกงขายาว เสื้อคอกลมผ่าอก แขนสั้นเหนือศอก สีน้ำเงินครามผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกปีก
ชาวนาหญิง นุ่งผ้าพื้นดำ โจงกระเบน เสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาวสีน้ำเงินหรือต่างสี สวมงอบ
ระบำสี่บท
ประวัติที่มา
ระบำสี่บทเป็นระบำที่ยกย่องกันมาแต่โบราณว่า เป็นระบำแบบแผนประกอบด้วยบทร้องและทำนองเพลง
สี่ บท คือ
- พระทอง
- เบ้าหลุด
- สระบุหร่ง
- บลิ่ม
รวมเรียกว่า “ระบำสี่บท” ระบำชุดนี้ยกย่องกันว่าเป็นระบำแบบฉบับ เรียกว่า “ระบำใหญ่” มักจะนำไปประกอบการแสดงโขน เช่น ระบำเทพบุตรนางฟ้าในตอนต้นของชุด “นารายณ์ปราบนนทุก” หรือชุด “เมขลา – รามสูร” หรือในตอนแสดงความยินดีเมื่อผู้ทรงฤทธิ์ได้ปราบอสูรและยักษ์ร้ายพ่ายแพ้ไป
การแต่งกาย จะแต่งกายยืนเครื่องพระ – นาง
ระบำชุดนี้มีท่ารำสวยงามน่าชม แต่เดิมบทร้องและทำนองเพลงนั้นค่อนข้างยืดยาว และกินเวลาแสดงนานมาก มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ตัดตอนบทร้องให้สันเข้า ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ดังต่อไปนี้
เพลงพระทอง
เมื่อนั้น ฝ่ายฝูงเทวาทุกราศี
ทั้งเทพธิดานารี สุขเกษมเปรมปรีดิ์เป็นสุดคิด
เทพบุตรจับระบำทำท่า นางฟ้ารำฟ้อนอ่อนจริต
รำเรียงเคียงเข้าไปให้ชิด ทอดสนิทติดพันกัลยา
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนซ้าย ไล่ตีวงเวียนเปลี่ยนขวา
ตลบหลังลดเลี้ยวลงมา เทวัญกัลยาสำราญใจ
เพลงเบ้าหลุด
เมื่อนั้น นางเทพอัปสรศรีใส
รำล่อเทวาสุภาลัย ท่วงทีหนีไล่พอได้กัน
เทพบุตรฉุดฉวยชายสไบ นางปัดกรค้อนให้แล้วผินผัน
หลีกหลบลดเลี้ยวเกี่ยวพัน เหียนหันมาขวาทำท่าทาง
ครั้นเทพเทวัณกระชั้นไล่ นางชม้อยถอยไปเสียให้ห่าง
เวียนระวันหันวงอยู่ตรงกลาง ฝูงนางนารีก็ปรีดา
เพลงสระบุหร่ง
เมื่อนั้น ฝ่ายฝูงเทพไทถ้วนหน้า
รำเรียงเคียงคั่นกัลยา เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเป็นแยบคาย
เทพบุตรหยุดยืนจับระบำ นางฟ้าฟ้อนรำทำฉุยฉาย
ทอดกรอ่อนระทวยกรีดกราย เทพไททั้งหลายก็เปรมปรีดิ์
เพลงบลิ่ม
เมื่อนั้น นางฟ้าธิดามารศรี
กรายกรอ่อนระทวยทั้งอินทรีย์ ดั่งกินรีรำฟ้อนร่อนรา
แล้วตีวงลดเลี้ยวเกี่ยวกล ประสานแทรกสันสนซ้ายขวา
ทอดกรงอนงามกิริยา เทวาปฎิพันธ์ก็เปรมปรีดิ์
ปี่พาทย์ทำเพลงช้า – เร็ว , ลา
ระบำย่องหงิด
ประวัติที่มา
เป็นระบำชุดหนึ่งซึ่งแทรกอยู่ในละครเรื่อง “อุณรุท” ตอน “ศุภลักษณ์วาดรูป” ระบำชุดนี้สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เข้าใจว่าแต่เดิมมีเพียงบทร้อง เพลงยู่หงิด แล้วจบด้วยเพลงเร็ว – ลา ต่อมาได้มีการปรับปรุงระบำชุดนี้ขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยกรมพิทักษ์มนตรี (พระองค์ทรงเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ทางด้านนาฏศิลป์อย่างสูง สามารถในการประดิษฐ์ท่ารำได้อย่างงดงาม)
ในการโกนจุกหม่อมหลวงวงศ์ กุญชร บุตรสาวเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่อง “อุณรุท” ตอน “อุ้มสมนางอุษา” เพื่อจัดแสดงในงานครั้งนี้ พระองค์ได้นำเอาระบำชุดนี้มาปรับปรุงเพลง บทร้องและท่ารำขึ้นใหม่
ปัจจุบันระบำย่องหงิดเป็นระบำชุดเบ็ดเตล็ดแบบมาตรฐาน มีท่ารำงดงาม นิยมนำมาแสดงในงานรื่นเริงต่างๆ (บางครั้งเรียกชื่อเรียกอย่างว่า “ยู่หงิด” ตามชื่อเพลงที่ร้อง)
การแต่งกาย ยืนเครื่องพระ – นาง
บทร้องเพลงย่องหงิด
เมื่อนั้น ฝ่ายฝูงเทพไทถ้วนหน้า
ขยับย่างนวยนาฏเข้ามา ใกล้ฝูงนางฟ้ายุพาพาล
แล้วซัดสองกรอ่อนชด ทำท่าพระรถโยนสาร
เรียงรอคลอเคล้าเยาวมาลย์ ประโลมลานทอดสนิทไปในที
นางสวรรค์กันกรป้องปัด บิดสบัดเบี่ยงบ่ายชายหนี
เทพบุตรทำท่าม้าตีคลี ท่วงทีเวียนตามอันดับกัน
หน้าพาทย์และเพลงร้อง ปี่พาทย์ทำเพลงรัว ร้องเพลงยู่หงิดคลอปี่พาทย์ จบแล้วทำเพลงแขกตาเขิ่ง และแขกเจ้าเซ็นตามอันดับ (บทร้องจากหนังสือ “ประชุมบทละครดึกดำบรรพ์” ในงานโกนจุก ม.ล. วงศ์ กุญชร )
ระบำนันทอุทยาน
ประวัติที่มา
เป็นระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาจารย์มนตรี ตราโมท ได้ประพันธ์บทร้องของเพลงชุดนี้ เพื่อประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง “อุณรุท” ตอน “กรุงพานชมทวีป” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ที่ได้เคยจัดแสดง ณ โรงละครดึกดำบรรพ์ (วังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์) ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแต่เดิมจัดเป็นระบำเทวดา – นางฟ้า ใช้เพลงหน้าพาทย์ประกอบการรำ ไม่มีบทร้อง ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 9 เมื่อปีพ.ศ. 2490 กรมศิลปากรได้จัดแสดงละครตอนนี้ให้ประชาชนชม ณ โรงละครศิลปากร ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จึงได้มีการปรับปรุงการแสดง โดยเพิ่มชุดระบำนันทอุทยานนี้ แทนระบำเทวดา นางฟ้าชุดเดิม
ระบำชุดนี้ถือว่าเป็นระบำมาตรฐานชุดหนึ่ง ในรูปแบบของระบำสมัยในกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระ – นาง ปัจจุบันระบำชุดนี้ไม่ค่อยแพร่หลายนัก ทั้งนี้เพราะว่า บทร้องมีความหมายเฉพาะตัว ไม่เหมาะที่จะนำไปแสดง ณ โอกาสอื่น วิทยาลัยนาฏศิลปเห็นความสำคัญว่า เป็นระบำมาตรฐานที่มีแบบเฉพาะตัว และได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ สมควรที่จะสืบทอดอนุรักษ์ จึงบรรจุไว้ในหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ลักษณะเฉพาะของระบำชุดนี้คือ บทร้องบทแรกของเพลงชมตลาด ท่ารำจะตีบทและความหยามตามบทร้อง สำหรับร้องเพลงต้นวรเชษฐ์ของเก่านั้นเข้าใจว่า หม่อมเข็ม กุญชร (หม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ) เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำของระบำนันทอุทยานชุดนี้ ส่วนท่ารำเพลงชมตลาดประดิษฐ์โดย หม่อมครูต่วน (ศุภลักษณ์) ภัทรนาวิก คุณครูลมุล ยมะคุปต์ คุณครูมัลลี (ครูหมัน) คงประภัศร์
เพลงชมตลาด
แดนเกษมเปรมใจใดจะทัน นันทวันของเราชาวแมนสรวง
สารพัดงามสะพรั่งไปทั้งปวง แลละล่วงละลานพิศติดหทัย
มีสระแก้วแวววาววะวาววับ แลระยับรุ้งปรั่งรังสีใส
อุบลบานตระการล้ำผ่องอำไพ ชูไสวแข่งฉวีนิรมล
เพลงต้นวรเชษฐ์
ที่แถวทางหว่างวิถีมณีลาด งามโอภาสผ่องแผ้วแนวสถล
พุ่มไม้ดอกออกอร่ามงามพึงยล ต่างต่อต้นต่างสลับสีสรรพกัน
มีน้ำพุพุ่งซ่าธาราไหล แลวิไลวิลาศล้วนสวนสวรรค์
สำหรับองค์อัมรินทร์ปิ่นเทวัญ ซึ่งรังสรรค์สร้างสมอบรมมา
-ออกเพลงวรเชษฐ์ เร็ว-ลา-
เพลงเชิดฉิ่ง – เชิดจีน
ประวัติที่มา
ระบำเชิดจีนเป็นระบำที่ปรมาจารย์ทางนาฎศิลป์ได้ประดิษฐ์ ขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เพลงที่ใช้ประกอบการรำคือ เพลงหน้าพาทย์ เชิดจีน ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครมาแต่โบราณและเพลงเชิดจีนตัวที่สามซึ่งหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ได้แต่งขึ้นไว้สำหรับการบรรเลงของวงปี่พาทย์ ถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพอพระราชหฤทัยและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเลื่อนยศเป็นพระประดิษฐไพเราะ
เพลงเชิดจีนทางดนตรีที่พระประดิษฐไพเราะแต่งขึ้นนี้ ต่อมาปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้นำเอาทำนองเพลงท่อนที่ 3 ซึ่งเรียกว่า เชิดจีนตัวที่ 3 มาประดิษฐ์ท่ารำประกอบทำนองเพลงให้ต่อเนื่องกับเพลงเชิดฉิ่ง จัดแสดงเป็นระบำชุดเบ็ดเตล็ด ผู้แสดงเป็นตัวนางล้วนแต่งกายนุ่งผ้ายกจีบหน้านาง ห่มสไบตาด สวมกระบังหน้า แสดงครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูฐ ปี พ.ศ. 2479
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำระบำเชิดจีน คือ หม่อมครูต่วน (ศุภลักษณ์) ภัทรนาวิก คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ต่อมาคุณครูทั้ง 2 ท่าน ได้ปรับปรุงรูปแบบการแสดงชุดนี้ แตกต่างจากที่ประดิษฐ์ในครั้งแรก กล่าวคือ
1. ให้ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระ – นาง
2. เพิ่มเติมท่ารำในเพลงเชิดฉิ่ง
3. จัดรูปแบบในการแปรแถวใหม่
แล้วเรียกชื่อระบำชุดปรับปรุงนี้ว่า “ระบำเชิดจีน (พระ – นาง )” จัดแสดงในงานรับรองแขก ผู้มีเกียรติของรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และงานรื่นเริงของหน่วยราชการและเอกชน นับเป็นระบำไทยมาตรฐานที่มีลีลาท่ารำประณีตงดงามและท่วงทำนองก็ไพเราะสอดคล้องสัมพันธ์กับท่ารำอย่างสวยงามชุดหนึ่ง
ระบำเชิดจีนนี้ เป็นการแสดงระบำที่รำเข้ากับทำนองเพลงไม่มีบทร้อง
รำซัดชาตรี
ประวัติที่มา
เป็นการรำที่ปรับปรุงมาจากการรำซัดไหว้ครู ของละครโนรา – ชาตรี ซึ่งเป็นละครรำที่เก่าแก่ของไทย การรำซัดนี้เติมตัวนายโรง จะเป็นผู้รำไหว้ครูเบิกโรงเสียก่อน ต่อมากรมศิลปากรได้นำมาดัดแปลงให้มีผู้รำทั้งชายหญิง เพื่อให้น่าดูยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาจังหวะอันเร่าร้อนของเดิมไว้ ซึ่งเป็นที่นิยมกัน ต่อมา ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ คุณครูมัลลี (ครูหมัน) คงประภัศร์ และคุณครูลมุล ยมะคุปต์
ฉุยฉายเบญจกายแปลง
ประวัติที่มา
การแสดงชุดฉุยฉายเบญจกายแปลงนี้ อยู่ในละครเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอน “นางลอย” เนื้อเรื่องย่อมีดังนี้
เบญจกายเป็นลูกสาวของพิเภกและนางตรีชฎา เป็นหลานของทศกัณฐ์ พระยายักษ์เป็นเจ้ากรุงลงกา ซึ่งขณะนั้นทศกัณฐ์ทราบข่าวศึกที่พระรามยกทัพมาทำศึก ชิงเอานางสีดาคืนไป ทศกัณฐ์จึงคิดกลอุบายให้นางเบญจกายแปลงตัวเป็นสีดา ทำเป็นตายลอยน้ำมายังพลับพลาของพระราม เพื่อให้พระรามเข้าใจผิดว่านางสีดาตายแล้ว จะได้ยกทัพกลับไป ฉะนั้นบทฉุยฉายเบญจกายแปลงถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อให้นางเบญจกายแปลงองค์เป็นสีดา เมื่อแปลงเสร็จแล้วก็ขึ้นไปเฝ้าทศกัณฐ์เพื่อให้สำรวจว่าเหมือนนางสีดาหรือไม่อย่างไร บทร้องฉุยฉายเบญจกายแปลงนี้ เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
การแต่งกาย ยืนเครื่องนาง
โอกาสที่แสดง งานทั่วไป
จำนวนผู้แสดง แสดงเดียว
บทร้องฉุยฉายเบญจกายแปลง
ฉุยฉายเอย จะขึ้นไปเฝ้าเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย ให้ละเมียดละม้ายสีดานงลักษณ์
ถึงพระรามเห็นทรามวัย จะฉงนพระทัยให้อะเลื่ออะหลัก
งามนักเอย ใครเห็นพิมพักตร์ก็จะรักจะใคร่
หลับก็จะฝันครั้นตื่นก็จะคิด อยากจะเห็นอีกสักนิดให้ชื่นใจ
งามคมดุจคมศรชัย ถูกอกทะลุในให้เจ็บอุรา
แม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีรากษสี
แม่แปลงอินทรีย์ เป็นแม่ศรีสีดา
ทศพักตร์มาลักเห็น จะตื่นเต้นในวิญญาณ
เหมือนล้อเล่นให้เป็นบ้า ระอาเจ้าแม่ศรีเอย
อรชรเอย อรชรอ้อนแอ้น
เอวขาแขนแมน แม้นเหมือนกินรี
ระทวยนวยนาฎ วิลาศจรลี
ขึ้นปราสาทมณี เฝ้าพระปิตุลาเอย
เพลงเร็ว – ลา
ฉุยฉายพราหมณ์
ประวัติที่มา
ฉุยฉายพราหมณ์ เป็นตอนหนึ่งในบทละครเบิกโรง เรื่อง พระคเณศเสียงา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาจากตำนานทางเทพเจ้า
เรื่องย่อ
หลังจากที่รามปรศุถูกพระอุมาสาปให้แข็งเป็นหิน ด้วยเหตุที่ขว้างขวานไปโดนงาของพระคเณศหัก บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายก่อบังเกิดความเดือดร้อน เพราะรามปรศุนั้นเป็นหัวหน้าแห่งพราหมณ์ ก็พากันขึ้นเฝ้าพระนารายณ์ให้ทรงแก้ไข พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์น้อยไปร่ายรำต่อหน้าพระอิศวรและพระอุมา พระอุมาบังเกิดความรักใคร่เอ็นดูจึงให้พราหมณ์น้อยขอพรได้ 1 อย่าง พราหมณ์น้อยจึงขอพรให้รามปรศุฟื้นขึ้นจากการถูกสาป พระอุมาจำต้องทอนคำสาป รามปรศุฟื้นขึ้นจากการถูกสาป ด้วยความปิติยินดีของพราหมณ์ทั้งหลาย
เนื้อความในบทของฉุยฉายพราหมณ์นั้น ได้กล่าวถึงความงดงามของผู้รำตลอดจนท่าทีการร่ายรำไปตามบท การรำได้พรรณนาชมความงามของเนตรและความงามของหัตถ์ ตลอดจนความน่ารักของผู้ไร้เดียงสา ดังบทร้องต่อไปนี้
บทร้องฉุยฉายพราหมณ์
ฉุยฉายเอย ช่างงามขำช่างรำโยกย้าย
สะเอวแสนอ่อนอรชรช่วงกาย วิจิตรยิ่งลายที่คนประดิษฐ์
สองเนตรคมขำแสนดำมันขลับ ชม้อยเนตรจับยิ่งสวยสุดพิศ
สุดสวยเอย ยิ่งพิศยิ่งเพลินเชิญให้งงงวย
งามหัตถ์งามก็อ่อนระทวย ช่างนาฎช่างนวยสวยยั่วนัยนา
ทั้งหัตถ์ทั้งกรก็ฟ้อนถูกแบบ ดูยลดูแยบสวยยิ่งเทวา
แม่ศรี
น่าชมเอย น่าชมเจ้าพราหมณ์
ดูทั่วตัวงาม ไม่ทรามเลยจนนิด
ดูผุดดูผ่อง เหมือนทองทาติด
ยิ่งเพ่งยิ่งพิศ ยิ่งคิดชมเอย
น่ารักเอย น่ารักดรุณ
เหมือนแรกจะรุ่น จะรู้เดียงสา
เจ้ายิ้มเจ้าแย้ม แก้มเหมือนมาลา
จ่อจิตติดตา เสียจริงเจ้าเอย
เพลงเร็ว – ลา
เพลงเชิดฉิ่ง , ศุภลักษณ์
การรำเชิดฉิ่งศุภลักษณ์เป็นการร่ายรำของนางศุภลักษณ์ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเรื่อง “อุณรุท” ตอน “ศุภลักษณ์วาดรูป” ที่ใช้สำหรับการแสดงละครในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยทรงนำเค้าเรื่องมาจากมหากาพย์ภารตะและคัมภีร์ปุราณะ อันแสดงถึงอภินิหารของพระนารายณ์ ปางกฤษณะอวตาร
นางศุภลักษณ์เป็นพี่เลี้ยงของนางอุษา รับอาสาในการติดตามพระอุณรุทมาให้นางอุษา ในการเดินทาง เนื่องจากนางศุภลักษณ์เป็นยักษ์มีอิทธิฤทธิ์ จึงสามารถเหาะเหินเดินอากาศเพื่อไปวาดรูปเหล่าเทวดาบนทรวงสวรรค์ โดยใช้เพลงเชิดฉิ่งประกอบลีลาท่ารำ ไม่มีบทร้องและในการรำเชิดฉิ่งศุภลักษณ์จะมีลักษณะพิเศษ เรียกว่า “ตื่นกลอง” โดยสังเกตจากเสียงกลอง รัวถี่ๆ แทรกอยู้ในการบรรเลง ผู้ถ่ายทอดท่ารำชุดนี้คือ อาจารย์เฉลย ศุขะวนิช เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากหม่อมครูนุ่ม เมื่อครั้งศึกษาอยู่ ณ วังสวนกุหลาบ
การแต่งกาย ยืนเครื่องนางแต่ห่มผ้า 2 ชาย และใส่รัดเกล้าเปรว
โอกาสที่แสดง ใช้ประกอบการแสดงเรื่อง “อุณรุท” ตอน “ศุภลักษณ์วาดรูป” หรือ การแสดงเบ็ดเตล็ดตามความเหมาะสม
ระบำโบราณคดี
การแสดงชุดนี้ เกิดจากแนวคิดของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรที่นำวัตถุประสงค์จูงใจให้ผู้ดูผู้ชมสืบสานความรู้จากโบราณวัตถุสถานให้แพร่หลาย โดยอาศัยการปั่น หล่อ จำหลักของศิลปโบราณวัตถุสมัยต่าง ได้แก่
1. สมัยทวารวดี
2. สมัยเชียงแสน
3. สมัยศรีวิชัย
4. สมัยสุโขทัย
5. สมัยลพบุรี
มาเป็นหลักในการวางแนวสร้างระบำประจำสมัยของศิลปโบราณวัตถุแต่ละชุดขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชุด คือ
ระบำทวารวดี ระบำเชียงแสน ระบำศรีวิชัย ระบำสุโขทัย ระบำลพบุรี รวมเรียกกันเป็นที่รู้จักกันว่า “ระบำชุดโบราณคดี” โดยมีนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นผู้ประดิษฐ์สร้าง นายมนตรี ตราโมท เป็นผู้สร้างเพลงดนตรี คุณหญิงแพร้ว สนิทวงเสนี นางลมุล ยะมคุปต์ นางศุขวนิต ใช้ท่ารำและฝึกซ้อม นายสนิท ดิษฐ์พันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย ระบำชุดนี้ได้จัดแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถทอดพระเนตรเป็นครั้งแรก ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารใหม่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2510
ระบำทวารวดี ระบำชุดนี้ สร้างขึ้นจากการสอบสวน ค้นคว้าและประดิษฐ์ท่ารำ เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย จากภาพปั้น และภาพจำหลักที่ถูกค้นพบ ณ โบราณสถานสมัยทวารดี เช่น ครูบัว อู่ทอง นครปฐม ฯลฯ นักปราชญ์ในทางโบราณคดี ร่วมกันวินิจฉัยตามหลักฐานว่า ประชาชนชาวทวารวดีเป็นมอญคือ เป็นเผ่าชนที่พูดภาษามอญ ดังนั้นดนตรีและท่ารำในระบำชุดนี้ จึงมีสำเนียงและลีลาเป็นแบบมอญ เครื่องดนตรีประกอบด้วย พิณ 3 สาย จะเข้ ขลุ่ย ระนาดตัด ตะโพน มอญ ฉิ่ง ฉาบและกรับ ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ นางลมุล ยะมคุปต์ นางเฉลย ศุขะ
วนิช ได้จัดแสดงให้ประชาชนชมครั้งแรก ณ สังคีตศาลา งานดนตรีมหกรรมประจำปี เมื่อวันที 12 มกราคม 2510
ระบำเชียงแสน สร้างขึ้นตามศิลปะโบราณวัตถุสถาน สมัยเชียงแสน ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อนั้นตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของประเทศไทยในท้องที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ศิลปะแบบเชียงแสนได้แพ่หลายไปทั่วดินแดนนภาคเหนือของไทยซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า อาณาจักรล้านนา โดยมีนครเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง ต่อมาศิลปะแบบเชียงแสนได้แพร่หลายลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไปในพระราชอาณาจักรลาวที่เรียกว่า ล้านช้างหรือกรุงศรีสัตนาคนหุต ดังนั้นท่ารำและดนตรี ตลอดจนเครื่องแต่งกายจึงมีลักษณะและลีลา แบบภาคเหนือของไทยและภาคตะวันออกเฉียวเหนือละคนกัน ครูผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือนางลมุล ยะมคุปต์ นางเฉลย ศุขะวนิช เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงได้แก่ แคน ปี่จุ่ม สะล้อ ซึง ตะโพน ฉิ่ง ฉาบ และฆ้องหุ่ย
เพลงศรีวิชัย
ประวัติความเป็นมา
เมื่อ พ.ศ.2509 ท่านตนกู อับดุล รามานห์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ติดต่อขอนาฏศิลป์ไทยไปถ่ายทำประกอบภาพยนตร์ เรื่อง Raja Bersiong ที่ท่านแต่งขึ้น ทางกรมศิลปากรโดย นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น ได้ร่วมกับนักวิชกาการทำการศึกษาค้นคว้าหลักฐาน และได้ลงความเห็นว่า อาณาจักรศรีวิชัยมีความเจริญรุ่งเรืองในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา ไปจนถึงตะวันตกของชวา ตลอดจนแหลมมลายู แล้วเลยเข้ามาทางตอนใต้ของไทยจนถึงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จากหลักฐานทางศิลปด้านโบราณวัตถุ สมัยศรีวิชัยที่ปรากฎอยู่ในประเทศไทยประกอบกับภาพจำหลักของพระสถูป บุโรพุทโธ ในชวา จึงได้จำลองภาพการแต่งกาย รวมทั้งเครื่องดนตรี มารวมเป็นศิลปะลีลานาฏศิลป์ไทยผสมกับนาฏศิลป์ชวา แล้วเรียกระบำชุดนี้ว่า “ ระบำศรีวิชัย “ ผู้ที่คิดประดิษฐ์ท่ารำชุดนี้คือ คุณครูลมุล ยมะคุปต์ และคุณครูเฉลย ศุขวณิช ผู้ประพันธ์ทำนองดนตรีคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายคือ อาจารย์สนิท ดิษฐพันธุ์
ระบำชุดนี้ แสดงครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2510 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และประเทศสิงคโปร์ ต่อมาจึงนำมาแสดงในประเทศไทย จนทุกวันนี้
เครื่องแต่งกาย
การแต่งกายและเครื่องประดับของระบำโบราณคดีชุดศรีวิชัยนี้ ได้แนวคิดมาจากภาพจำหลีกของภาพปั้น ณ สถูปบุโรพุทโธ ในชวา ดังนี้
1. เสื้อในนาง ไม่มีแขน
2. ผ้านุ่ง เป็นผ้าโสร่ง บาติค จีบหน้านาง
3. ผ้าคาดรอบสะโพก ปล่อยชายห้อยทางซ้ายมือ
4. ผ้าสไบ มีแผ่นโค้งเหนือไหล่ ( สพักไหล่ ) ติดสร้อยตัว 2 เส้น
5. เครื่องประดับมี สร้อยคอ ต่างหู กำไลมือ กำไลเท้า กำไลต้นแขน เข็มขัด มีโบว์เส้นเล็กสอดใต้เข็มขัด 2 เส้น
6. ปมเกล้ามวยตึงไว้ที่ท้ายทอย สวมเกี้ยวรอบมวย ปักปิ่น
7. สวมกระบังหน้า
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงชุดนี้ ได้แก่
1. กระจับปี่
2. ฆ้อง 3 ลูก แบบฆ้องโนห์รา
3. ตะโพน
4. กลองแขก
5. ขลุ่ย
6. ซอสามสาย
7. ฉิ่ง
8. ฉาบ
9. กรับ
นาฏยศัพท์ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
นาฏศัพท์ทั่วไป ได้แก่
1. จีบ
2. จรดเท้า
3. ย่ำเท้า
4. ลักคอ
5. ขยับเท้า หรือเขยิบเท้า
6. เคลื่อนเท้า
นาฏยศัพท์เฉพาะ ได้แก่
1. จีบล่อแก้ว
2. วง( ศรีวิชัย )
3. ยักไหล่ หรือกระทายไหล่
ระบำสุโขทัย สร้างขึ้นในตามสมัยโบราณวัตถุสถาน สมัยสุโขทัย ซึ่งมีพระพุทธรูปปูนปั่นและหล่อสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลา แช่มช้อยงดงามได้รับยกย่องว่า เป็นแบบอย่างศิลปกรรมที่งดงามอย่างยิ่ง แสดงว่าประชาชนชาวสุโขทัยมีความเจริญอย่างยิ่ง ในเชิงศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ท่ารำและการแต่งกายสร้างขึ้นตามความรู้สึกและแนวสำเนียง ถ้อยคำในศิลาจารึก ประกอบลีลาภาพปิ่นหล่อในสมัยนั้นได้แก่ ปี่ใน ฆ้องวง ซอด้วง ซอสามสาย กระจับปี่ ตะโพน ฉิ่ง โหม่งและกรับ
ระบำลพบุรี ระบำชุดนี้สร้างขึ้นจากหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถาน สมัยที่สร้างขึ้งตามศิลปะแบบขอม เช่น พระปรางค์สามยอด ที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ่ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น นักปราชญ์โบราณคดีกำหนด เรียกว่า ศิลปะลพบุรี ด้วยเหตุนี้เองทำนองเพลงของระบำชุดนี้ จึงมีสำเนียงเป็นเขมร เครื่องแต่งกายและลีลาท่ารำ ประดิษฐ์จากรูปหล่อโลหะ ศิลปะสมัยลพบุรี ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ นางลมุล ยะมคุปต์ นางเฉลย ศุขะวนิช เครื่องดนตรีที่ใช้ในระบำชุดนี้คือ ซอสามสาย พิณน้ำเต้า ปี่ใน โทน กระจับปี่ ฉิ่ง ฉาบและกรับ
ระบำมยุราภิรมย์
ประวัติที่มา
ระบำมยุราภิรมย์ชุดนี้ เป็นระบำที่กรมศิลปากรรับมอบหมายให้นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ แต่งทำนองเพลงเพื่อประกอบท่าร่ายรำหมู่นกยูงในการแสดงละครเรื่อง “อิเหนา” ตอน “สียะตราพบนางเกนหลง” และตั้งชื่อเพลงนี้ว่า “เพลงมยุราภิรมย์” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ นายกรัฐมนตรี ได้จัดแสดงในโอกาสรับรองประธารนาธิปบดีซูการ์โน แห่งสาธารรัฐอินโดนิเซีย ราชอาคันตุกะ ณ หอประชุมกระทรวงวัฒนธรรม สนามเสือป่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2505
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ นางลมุล ยะมคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร
ดนตรี วงปี่พาทย์ไม้นวม เครื่องห้าหรือเครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ ทำนองเพลง มยุราภิรมย์ เป็นเพลงประเภทอัตราสองชั้นและชั้นเดียว ใช้กลองแขกตีหน้าทับลาง ไม่มีบทร้อง
การแต่งกาย แบบเบ็ดเตล็ด เสื้อกางเกงคนละท่อนสีเขียว ปีก หาง เล็บ หัวนกยูง เปิดหน้า
ลักษณะท่ารำ ท่ากรีดร่ายของนกยูง ผสมผสานกับลีลาท่ารำ พร้อมกับการแปรแถวรูปแบบต่างๆ
ฟ้อนพม่าเปิงมาง
ประวัติที่มา
ฟ้อนพม่าเปิงมางนี้ ได้นำมาจากการแสดงระบำกลอง ซึ่งจัดแสดงขึ้น ณ โรงละครแห่งชาติ เปิงมางนี้เป็นกลองของพม่าซึ่งการแสดงชุดนี้จะเป็นทำนองเสียส่วนมาก ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือนางลมุล ยะมคุปต์ นางเฉลย ศุขะ
วนิช ได้นำท่ารำนี้มาถ่ายทอดให้กับนักเรียนสาขานาฏศิลปละคร นำออกแสดง
เซิ้งสัมพันธ์
เซิ้ง เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการละเล่นได้แก่ แคน กร๊อบแกร๊บ โหม่ง กลองเตะและกลองยาว ลีลาของการเซิ้งจะมีความกระฉับกระเฉงแคล้วคล่องว่องไว ทั้งนี้เพื่อความสนุกสนาน กระบวนการเล่นเซิ้งนี้ส่วนใหญ่จะนำเอาอาชีพหลักมาประกอบด้วยเช่น นำอาชีพตกปลาโดยใช้สวิงมาประดิษฐ์เป็นลีลาการเล่นเซิ้งสวิง นำเอากัปกริยาที่ผู้หญิงชาวบ้านเอาอาหารใส่กระติบข้าว ไปส่งข้าวให้สามีหรือญาติพี่น้องที่อยู่กลางไร่นา มาเป็นลีลาท่าเซิ้งกระติบข้าว สำหรับเซิ้งชุดนี้อาจารย์ปฐมรัตน์ ถิ่นธรณี เป็นผู้คิดลีลากระบวนจังหวะกลอง คุณครูลมุล ยะมคุปต์และคุณครูเฉลย ศุขะวณิชเป็นผู้ปรับปรุงลีลาท่ารำ
ระบำนพรัตน์
ในการแสดงเรื่อง สุวรรณหงส์ ตอน พราหมณ์เล็กพราหมณ์โตของกรมศิลปากร มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า พระสุวรรณหงส์พาพราหมณ์เล็ก (พระเกศสุริยงแปลง) ไปชมถ้ำแก้ว เพื่อจะจับพิรุณว่าเป็นหญิงหรือชาย ในการแสดงตอนนี้ มีความประสงค์ให้หมู่แก้วนวรัฐออกมาจับระบำเป็นบุคลาธิษฐานขึ้น เพื่อถวายความสวยงามและประโยชน์ของเพชรแต่ละอย่างออกมาเด่นชัด ด้วยท่าระบำรำร้องและทำนองเพลง ทั้งนี้โดยมอบให้อาจารย์มนตรี ตราโมท ประพันธ์บทร้องขึ้นใหม่พร้อมกับหาทำนองเพลง อาจารย์มนตรี ตราโมทได้นำเอาทำนองเพลงสุรินทราหูและเพลงเร็วเก่า นำมาดัดแปลงประกอบการแสดงชุดนี้และนำออกมาแสดงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2492 ณ โรงละครศิลปากร ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ระบำนพรัตน์เป็นการบรรยายและแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของอัญมณีแต่ละชนิด ซึ่งมีความแตกต่างกันไป จัดว่าเป็นระบำที่สวยงามมากชุดหนึ่ง นิยมนำมาแสดงในงานมงคล
การแต่งกาย แต่งตามสีของอัญมณีแต่ละชนิด พร้อมทั้งเครื่องประดับสีเดียวกัน
บทร้องระบำนพรัตน์
รัตนาคูหากายสิทธิ์ ล้วนวิจิตรเนาวรัตน์จรัสฉาย
แสงมณีสีวาวอร่ามพราย เป็นเลื่อมลายแลสลับระยับตา
อันเพชรดีสีขาวรุ้งพราวเพริศ สุดประเสริฐแสงสีวิเลขา
ใครประดับเพชรดีมีราคา เรื่องเดชานุภาพด้วยดวงมณี
ทับทิมแท้แลดูแดงอร่าม แสงวาววามแจ่มจรัสรัศมี
กำจัดปวงโรคาพยาธิ พูนทวีสินทรัพย์นับอนันต์
มรกตสุดขจีสีเขียวขำ แสนงามล้ำเลอเลิศประเสริฐสรรพ์
ประดับกันเขี้ยวงาสารพัน คุ้มภยันตราล้วนมวลพารา
อันมณีสีเหลืองเรืองวิรุจน์ นี่คือบุษราคัมเลิศล้ำค่า
เป็นอาภาณ์พูนสวัสดิ์วัฒนา ชนม์พรรษายืนดำรงคงนิรันดร์
แก้วโกเมนแดงก่ำน้ำใสสด แสงงามงดรูจีแสงสีสรรพ์
ผู้ประดับรับเคารพอภิวันท์ ประชานันต์นับถือเลื่องลือนาม
นิลกาฬน้ำเงินก่ำล้ำหมอกเมฆ รุจิเรขรุ่งโรจน์โชติอร่าม
อำนวยสรรพ์สุขารมณ์อภิธาน สิ่งดีงามหลามหลั่งสะพรั่งมา
สีขาวหม่นหมอกมัวสลัวแสง บอกแสดงมุกดาหารตระการสง่า
ดลขจัดสัตว์ร้ายพ่ายเดชา อสรพิษนานาล่าหลีกไกล
แก้วเพทายพรายแสงสีแดงระเรื่อ พรรณอะเคื้อลายองผุดผ่องใส
นำศิริมงคลดลโชคชัย กำจัดภัยผองอุบาทว์ให้คลาดคลา
แก้วไพฑูรย์ชุ่นฉวีสีไม้ไผ่ สังวาลย์ไหมสาแหรกผ่านประสานสายบันดาลชัยชนะหมู่ศัตรูร้าย แผ่กำจายเสน่ห์ติดจับจิตเอย
เพลงสุรินทราหู
สีขาวผ่องเพชรดี ทับทิมสีมณีแดง
เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม
แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ
มุกดาหมอกมัว แดงสลัวเพทาย
สังวาลย์สายไพฑูรย์ เจิดจำรูญนพรัตน์
อวยสวัสดิภาพล้วน ปวงวิบัติขจัดพ้น
ผ่านร้ายกลายดี
ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ฟ้อนม่ายมุ้ยเชียงตา
ฟ้อนม่ายมุ้ยเชียงตานี้ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงดัดแปลงมาจาก “ฟ้อนกำเข้อ” หรือระบำผีเสื้อ ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวไทยใหญ่และชาวลานนามาแต่โบราณ มีประวัติไว้ว่า
“ประวัติของม่ายมุ้ยเชียงตา” มีดังนี้ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเห็นว่าการฟ้อนรำซ้ำซาก อยากจะทรงเปลี่ยนแปลงให้แปลกตาบ้าง จึงมีพระราชประสงค์ให้ตัวระบำพม่า มาแสดงทอดพระเนตร ถ้าเหมาะสมก็จะทรงดัดแปลงมาผสมกับรำไทยเป็นพม่ากลาย สัก 1 ชุด ได้รับสั่งให้เจ้าจันทรังษี ( น้องสาวเจ้า ทิพวรรณ
กฤษดากร) ซึ่งเป็นภรรยาของพ่อค้าไม้ในพม่า ให้หาตัวระบำมาถวาย เจ้าจันทรังษีหาได้ชาย 1 หญิง 1 มาแสดงถวายทอดพระเนตร จึงทรงรับไว้เป็นครูฝึกอ่อนอยู่ระยะหนึ่งทรงเห็นว่า ท่ารำของชายไม่ค่อยจะน่าดูนัก จึงรับสั่งให้ครูหญิงแสดงท่ารำของระบำพม่า ที่แสดงในที่รโหฐานของกษัตริย์พม่าให้ทอดพระเนตร ก็พอพระทัยจึงได้ทรงดัดแปลงท่ารำมาเป็น ท่าระบำผีเสื้อ โดยใช้บทเพลงและเนื้อร้องพม่าตามเดิม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เสด็จเยี่ยมมณฑลพายัพ และได้เสด็จมาเสวยพระกายหารเย็นที่วังของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงได้ทรงเปลี่ยนจากชุดผีเสื้อมาเป็นระบำในที่รโหฐาน แสดงถวายโดยใช้ภาพในหนังสือเรื่อง “พระเจาสีป้อ” ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันพงศ์ เป็นตัวอย่าง การแสดงฟ้อนม่ายมุ้ยเชียงตาถวายทอดพระเนตรครั้งนั้น ใช้ผู้แสดง 16 คน เป็นคนเชียงใหม่ทั้งหมด และใช้เวลานามาก ท่ารำก็ซ้ำหลายตอน ครั้นเมื่อซ้อมจะแสดงในงานวัดสวนดอกครั้งสุดท้าย หม่อมแส หัวหน้าครู ฝึกได้ทูลถามว่า ม่ายมุ้ยเชียงตานี้ จะใช้การแต่งกายเป็นชาย 1 แถว หญิง 1 แถว จะสมควรไหม รับสั่งตอบว่า เราซ้อมโดยใช้แบบอย่างระบำในที่รโหฐานของเขา ก็จะต้องรักษาระเบียบประเพณีของเขาไว้ ระบำชุดนี้ต้องใช้หญิงล้วนตามธรรมเนียม หากว่าท่ารำซ้ำกันจะตัดออกเสียบ้างก็ดี จะได้ไม่เบื่อตา การรักษาประเพณีเดิมเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอยากจะใช้การแต่งกายเป็นพม่าชายข้าง ก็ดัดแปลงม่านเม้เล้ เป็นชาย 1 แถว หญิง 1 แถวก็ได้ การฟ้อนม่านนี้ แม้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จะทรงดัดแปลงมาจากพม่าก็จริง แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พม่าได้แบบอย่างการรำละครไทยไปเป็นละครชั้นสูงของเขา ชาวพม่าเรียกว่า ละครโยเดีย คำว่า โยเดีย ก็คือ อโยธยานั่นเอง
ชุดฟ้อนม่านนี้ ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน มีไม่ต่ำกว่า 3 คน เครื่องแต่งตัวเป็นแบบพม่า นุ่งผ้าซิ่นยาวถึงตาตุ่ม
สวมเสื้อแขนยาว ตัวเสื้อยาวแค่เอว มีผ้าแพรสีคล้องคอยาวลงมาถึงเข่า ผมเกล้าสูงปล่อยชาย ผมลงมาทางด้านไหล่ขวา มีพวงมาลัยดอกไม้สดสวมรอบมวย และมีพวงอุษาห้อยลงมากันชายผม
ท่วงทีที่ฟ้อน มีทั้งช้าและเร็ว ส่วนรูปขบวนที่ฟ้อนก็เป็นแถวบ้าง จับคู่บ้างและเป็นครึ่งวงกลมบ้าง บางตอนก็จะจับชายผ้าร่ายรำคล้ายปีกผีเสื้อ เพลงที่ร้องเป็นเพลงพม่า แต่คนไทยนำมาร้องจนเพี้ยนเสียงเดิมไปหมด แม้พม่าเองก็ฟังไม่เข้าใจ ดังนี้
บทขับร้องฟ้อนม่ายมุ้ยเชียงตา
อ้ายูเมตาเมี้ย สู่เค สู่เค สู่เค อ้า
โอลาชินโย ขิ่น ขิ่น เลบาโละ ขิ่น ขิ่น เลบาโละ
ซูเพาตูหู กระตกกระแตบาโละ เวลายูหู โอเมลา
ซวยตองบู ปูเลเลรส โอบาเพ่ เฮ เฮ เฮ เฮ่ มิสตามาตาบ่าเล้
ดีเมาเซท แดละแม่กว่า ดีเมาเซท แดละแม่กว่า
แม่วฟิล กันทา ซวย ซวยไล โอดีแล แมวาตอย
ยียอมไม ส่วนด้านกว่าแคะ ปู่เลเส
โอนิสันเลเฟ ปู่เลเส เซนิเก เพมาเพ
ตีตาแมวเย เจาพีละซีกระเตเตียวโว คานุธานุเว
แต่เวลา ยี้หวี่แง้ หย่าสา ยี้หวี่แง้ หย่าสา
รองเง็ง
รองเง็ง หมายถึง การละเล่นชนิดหนึ่งที่เป็นพื้นเมืองของภาคใต้ คือ การเต้นรำคู่ระหว่างหญิงกับชาย ด้วยลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัวกันในระหว่างการแสดงหรือเต้น จะมีดนตรีบรรเลงเพลงคลอไปด้วย เพลงที่ยืนโลม คือ เพลงลาดูคู่วอกับเพลงเมาะอีมังลามา รองเง็งได้เริ่มมีขึ้นเมื่อชาวโปตุเกสได้นำเข้ามาในแหลมมลายูสมัยแรก
การแต่งกาย แต่งกันได้หลายลักษณะ ตามแต่โอกาสและความเหมาะสม แต่โดยปกติจะแต่งกันเป็นแบบพื้นเมือง คือ
ชาย สวมหมวกแขกสีดำ กางเกงขายาวสีสุภาพ เสื้อเชิ๊ตสีขาวหรือสีเดียวกันกางเกง ผ้ารินิจนัง หรือผ้าชาเอนดัง ถุงเท้า รองเท้า
หญิง นุ่งผ้าโสร่งหรือผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อแขนยาว มีผ้าคลุมไหล่เป็นผ้าลูกไม้ สวมสร้อยคอ ใส่รองเท้า มีดอกไม้ทัดผมหรือปิ่นปักผม
เครื่องดนตรี ประกอบด้วย ไวโอลีน รำมะนา ฆ้องและกลองแขก
เพลงรองเง็ง มีด้วนกันทั้งหมด 12 เพลง คือ
เพลงลามูดูวอ
เพลงฟูโจ๊ะฟีฮัง
เพลงเมาะอีนังฟวา
เพลงจินตาปายัง
เพลงเมาะอีนังลามา
เพลงลานัง
เพลงบุหงารำไพ
เพลงมิสแพระพ์
เพลงอานะดีดี
เพลงตาลีทาโลง
เพลงติมังบูรง
เพลงจินโยดีวัดคูมาลำธารี
เซิ้งกระหยัง
เซิ้งกระหยัง เป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่ชาวกาฬสินธุ์ ในอำเภอกุสินารายณ์เป็นผู้ประยุกต์ขึ้นท่ารำจากเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระติ๊บ เซิ้งสาละวัน ฯลฯ มาผสมผสานกัน พร้อมทั้งจัดขบวนท่ารำขึ้นใหม่รวม 19 ท่าด้วยกัน แต่ละท่าก็มีชื่อเรียกต่างๆกันดังนี้ คือ
1. เซิ้งท่าไหว้ 2. เซิ้งภูไท 3. เซิ้งโปรยดอกไม้
4. เซิ้งขยับสะโพก 5. เซิ้งจับคู่ถือกระหยัง 6. เซิ้งนั่งเกี้ยว
7. เซิ้งสับ 8. เซิ้งยืนเกี้ยว 9. เซิ้งรำส่าย
10. เซิ้งเก็บผักหวาน 11. เซิ้งกระหยังตั้งวง 12. เซิ้งตัดหน้า
13. เซิ้งสาละวัน 14. เซิ้งกลองยาว 15. เซิ้งรำวง
16. เซิ้งชวนกลับ 17. เซิ้งแยกวง 18. เซิ้งนางช้าง
19. เซิ้งนั่ง
เนื่องจากผู้ที่แสดงถือกระหยัง ซึ่งเป็นภาชนะอย่างหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่สาน มีลักษณะคล้ายกระบุงใส่สิ่งของต่างๆ ฉะนั้นจึงเรียกชื่อเซิ้งนี้ว่า “เซิ้งกระหยัง” ตามภาชนะที่ถือ สำหรับเครื่องดนตรีประกอบการแสดงเซิ้งกระหยัง ประกอบด้วยแคน แกร็บ กรองแต๊ะ กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และยังมีพิณ (ลักษณะคล้ายกับซึงของภาคเหนือ) และปี่อ้อ (ลักษณะและวิธีเป่าเหมือนปี่จุมของภาคเหนือ) การบรรเลงจะช้าสลับกับเร็วตามจังหวะของการร่ายรำ ซึ่งนับเป็นการแสดงที่สวยงาม สนุกสนาน อีกชุดหนึ่ง ซึ่งกรมศิลปากรได้ถ่ายทอดและนำออกแสดงต่อ
สาธารณชนอยู่เนือง ๆ
ม่านมอญสัมพันธ์
การแสดงชุดนี้ประกอบอยู่ในละคร เรื่องราชาธิราช ตอน กระทำสัตย์ ตามเนื้อเรื่องที่ดำเนินความว่า ฝ่านพม่ากับมอญจะกระทำสัตย์ต่อกันในการที่จะไม่ทำสงครามกันสืบไปภายภาคหน้า ก่อนที่จะเริ่มพิธีกระทำสัตย์ นักฟ้อนของมอญและพม่าก็ออกมาฟ้อนร่วมกัน ลีลาที่พม่าและมอญฟ้อนจะเป็นเอกลักษณ์แต่ละชาติ นับเป็นฟ้อนชุดหนึ่งที่ผู้ชมจะได้มีโอกาสเห็นลีลาท่าทางนักฟ้อนที่เป็นนักฟ้อนแบบมอญและพม่า ว่าละม้ายคล้ายคลึงหรือผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร ฟ้อนพม่า – มอญ นอกจากจะแสดงประกอบในละคร เรื่องราชาธิราช ดังกล่าวแล้วยังนำมาแสดงเป็นชุดเอกเทศได้
ฟ้อนภูไท
ภูไท หรือผู้ไทย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่รองลงมาจากไทย และลาวตามตัวเลขที่ปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพวกผู้ไทยอยู่ประมาณแสนคน กลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง และเทือกเขาภูพาน ได้แก่จังหวัดนครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์
ผู้ไทยเป็นคนขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ เวลาโดยทั่ว ๆไปแล้ว เจริญก้าวหน้ามากกว่าพวกไทย – ลาว ที่อยู่ใกล้เคียง เป็นกลุ่มพัฒนได้เร็ว การฟ้อนผู้ไทยนี้เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทย เดิมทีนั้นการร่ายรำแบบนี้ เป็นการรำเพื่อถวายพระธาตุเชิงชุมแต่อย่างเดียว ต่อมาได้ใช้ในงานสนุกสนานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วยการฟ้อนภูไทบางครั้ง จงใช้ทั้งชาย – หญิง และหญิงคู่กัน
เพลงฟ้อนภูไท
ไปเย้ยไป ไปโห่เอาชัยเอ้าสอง
ไปโฮมพี่โฮมน้อง ไปช่วยแซ่ซ้องอวยชัย
เชิงเขาแสนจน หนทางก็ลำบาก
ข้อยสู้ทนยาก มาฟ้อนรำให้ท่านชม
ข้อยอยู่เทิงเขา ข้อยยังเอาใจมาช่วย
พวกข้อย ขออำนวย อวยชัยให้ละเนอ
ขออำนาจไตรรัตน์ จงปกปักรักษา
ชาวไทยถ้วนหน้า ให้วัฒนาสืบไป
เวลาก็จวน ข้อยจะด่วนไป
ขอความมีชัย แด่ทุกท่านเทอญ
ข้อยลาละเนอ ข้อยลาละเนอ
เพลงเหย่อย
เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของไทย นิยมเล่นตามเทศกาลต่าง ๆ ตามท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่เล่นในบางท้องถิ่นไม่แพร่หลายเหมือนการละเล่นอย่างอื่น กรมศิลปากรได้ส่งศิลปินของกรมศิลปากรไปฝึกหัดและถ่ายทอด จากชาวบ้านอยู่บ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2506
ลักษณะการเล่น เริ่มด้วยประโคมกลองยาว เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ผู้รำเกิดความสนุก เมื่อจบกระบวนโหมโรมแล้ว พวกนักดนตรีจะเปลี่ยนมาเล่นจังหวะช้า เพื่อจะได้ประกอบท่ารำ คำร้อง ให้ถูกต้องและชัดเจน
ส่วนท่ารำของเพลงเหย่อยนั้น ปรากฏว่าไม่มีแบบฉบับที่แน่นอน สุดแท้แต่ผู้ใดถนัดที่จะรำแบบไหนก็รำได้ตามใจชอบ หรือรำกันได้ตามอัตโนมัติ ข้อสำคัญอยู่ที่การสืบเท้า ซึ่งจะต้องสืบเท้าแบบถนัดไป เท้าที่สืบไปต้องไม่ยกสูง หรือติดไปกับพื้นเลยที่เดียว และเท้าซ้ายต้องนำไปก่อนเสมอ ทั้งนี้ผิดกันกับการเต้นกำรำเคียวซึ่งเวลารำเท้าขวาไปก่อน และเวลาสืบเท้ายกเท้าสูง
ดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ในการเล่น เพลงเหย่อยก็มีกลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และกรมศิลปากรได้เพิ่มปี่ชวาเข้าไปอีกอย่างหนึ่ง
เพลงร้อง เนื้อร้องเพลงเหย่อยนี้ เริ่มต้นด้วยเพลงพาดผ้า แล้วก็เพลงเกี่ยว เพลงสู่ขอ เพลงลักหาพาหนี จบลงด้วยเพลงลา ดังตัวอย่าง
คำร้องโต้ตอบแก้เกี้ยวกันในเพลงเหย่อย ดังที่ยกมาไว้ท้ายเรื่องนี้ ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่ามีทั้งบทเกริ่น-เกี้ยว – สู่ขอ – ลักหาพาหนี - ลา อยู่ครบถ้วน
บทร้องเพลงเหย่อย
ชาย มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย
พี่ตั้งวงไว้ท่า อย่านิ่งรอช้าเลยเอย
พี่ตั้งวงไว้คอย อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
หญิง ให้พี่ยื่นแขนขวา เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
ชาย พาดเอยพาดลง พาดที่องค์น้องเอย
หญิง มาเถิดพวกเรา ไปรำกับเขาหน่อยเอย
ชาย สวยแม่คุณอย่าช้า ก็รำออกมาเถิดเอย
หญิง รำร่ายกรายวง สวยดังหงษ์ทองเอย
ชาย รำเอยรำร่อน สวยดังกินรนางเอย
หญิง รำเอยรำคู่ น่าเอ็นดูจริงเอย
ชาย เจ้าเขียวใบข้าว พี่รักเจ้าสาวจริงเอย
หญิง เจ้าเขียวใบพวง อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
ชาย รักน้องจริงจริง รักแล้วไม่ทิ้งไปเอย
หญิง รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
ชาย พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย
หญิง ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย
ชาย พี่แบกรักมาเต็มลา ช่างไม่เมตตาเลยเอย
หญิง เมียมีอยู่เต็มตัก จะให้น้องรักอย่างไรเอย
ชาย สวยเอยคนดี เมียพี่มีเมื่อไรเอย
หญิง เมียมีอยู่ที่บ้าน จะทิ้งทอดทานให้ใครเอย
ชาย ถ้าฉีกได้เหมือนปู จะฉีกให้ดูใจเอย
หญิง รักจริงแล้วหนอ รีบไปสู่ขอน้องเอย
ชาย ขอก็ได้ สินสอดเท่าไรน้องเอย
หญิง หมากลูกพลูจีบ ให้พี่รีบไปขอเอย
ชาย ข้าวยากหมากแพง เห็นสุดแรงน้องเอย
หญิง หมากลูกพลูครึ่ง รีบไปให้ถึงเถิดเอย
ชาย รักกันหนาพากันหนี เห็นจะดีกว่าเอย
หญิง แม่สอนเอาไว้ ไม่เชื่อคำชายเลยเอย
ชาย แม่สอนไว้ หนีตามกันไปเลยเอย
หญิง พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราแล้วเอย
ชาย พ่อสอนว่า ให้กลับพาราพี่เอย
หญิง กำเกวียนกงเกวียน ต้องจากวงแล้วเอย
ชาย กรรมวิบาก วันนี้ต้องจากเสียแล้วเอย
หญิง เวลาก็จวน น้องจะรีบด่วนไปก่อนเอย
ชาย เราร่วมอวยพร ก่อนจะลาไปก่อนเอย
(พร้อม) ให้หมดทุกข์โศกโรคภัย สวัสดีมีชัยทุกคนเอย
ฟ้อนลาวคำหอม
ฟ้อนลาวคำหอมนี้ บทร้องนำมาจากบทละครพันทางเรื่อง “พระลอ” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ อาจารย์ลมุล ยมะคุปต์ อาจารย์เฉลย ศุขะวนิช ได้นำท่ารำนี้ถ่ายทอดให้กับนักเรียนสาขานาฏศิลป์ละครนำออกแสดง
เพลงลาวคำหอม
สาวสุรางค์นางสนมบังคม บรมบาทราชร่มเกล้า
เอื้ออรโฉมโน้มทรวงสาว ทุกค่ำเช้า
สาวรักสวาจึงเฝ้า ใฝ่สนองพระคุณเอย
ชะอ้อนโอษฐ์แอ่ว พระแก้วก่องโลก
แสนสวยสะคราญ สังหารแสนโศก
สร่างแสง วิโยคยวนใจ
สร่างโศกสร่างเศร้า สร่างเหงาฤทัย
เพราะพระโฉมท่านไคล้ เฉิดฉินชื่นเวียงเฉย
ชื่นแสนชื่น ชื่นชวนเสน่หา
ชื่นชีวา ของมหาราชท้าว
เสน่ห์สนองรองบ่วงบาศก์เจ้า ระบือลือเลื่องกระเดื่องแดนด้าว
โฉมพระนางอะคร้าว เครงเวียงเอย
เพลงหน้าพาทย์
สาธุการ
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ในการแสดงความเคารพพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งครูอาจารย์และเทพยดาทั้งหลาย นอกจากใช้บรรเลงประกอบการรำแล้ว การแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อจบกัณฐ์ทศพรแล้ว ก็จะบรรเลงเพลงนี้ หรือเมื่อพระสงฆ์เทศน์จบ ก็ใช้เพลงนี้เช่นเดียวกัน ผู้แสดงที่ใช้เพลงนี้รำ ใช้ได้ทั้งพระ นาง ยักษ์
ตระนิมิต
เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ประกอบการเนรมิตของตัวละครสำคัญที่มีศักดิ์สูง ทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง เช่น เบญจกายแปลงเป็นนางสีดา หนุมานกลายเป็นหมาเน่า
ตระบองกัน
เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ที่บรรเลงประกอบการเนรมิตร่างใหม่เช่นเดียวกับตระนิมิต ใช้กับฝ่ายยักษ์ เช่น ทศกัณฐ์เป็นนักพรต เพื่อจะลักนางสีดา ใช้แสดงโขนแล้วนิยมนำมาฟ้อนรำ เช่น ระบำดอกไม้เงิน – ทอง ถวายหน้าพระที่นั่ง
ชำนาญ
เป็นเพลงที่บรรเลง ประกอบการเนรมิต และประกอบการร่ายมนต์ ตลอดจนประสาทพรอันเป็นมงคลของเทพเจ้าอันสูงศักดิ์
โอด
ใช้บรรเลงประกอบกิริยาร้องไห้ โศกเศร้า เสียใจ ทั่วไป จะเป็นการเสียใจอย่างแรง ผิดกับเพลงทยอยที่ประกอบอาการ คร่ำครวญ เสียใจ
โลม – ตระนอน
โลมใช้ประกอบการเกี้ยวพาราสีของตัวละคร บางครั้งจะออกด้วยเพลงตระนอน ตระนอนใช้บรรเลงประกอบพฤติกรรมที่นอน ทั้งฝ่าย พระ นาง ยักษื ลิง เพลงนี้ไม่กำหนดว่าจะนอนที่ใด เพลงนี้จะเป็นเพลงกษัตริย์
เสมอควง
เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้สำหรับตัวพระ - นาง รำคู่กัน หรือรำเป็นหมู่ มีท่ารำสัมพันธ์ ใช้ในความหมายของการมาถึงที่ หรือการไปมาในระยะใกล้ ๆ
พลายบัวเกี้ยวนางตานี
เป็นการแสดงชุดหนึ่งที่อยู่ในละครเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เนื้อเรื่องย่อ มีอยู่ว่า พลายบัวและพลายเพชรบวชเป็นเณรที่วัดส้มใหญ่ วันหนึ่งได้รับข่าวจากนางศรีมาลาผู้เป็นมารดาที่บาดเจ็บว่า ผู้ที่ทำร้ายนางคือ พลายยงค์ ลูกคนละพ่อของพระไวย จึงมีความเจ็บแค้นได้ลานางศรีมาลาไปแก้แค้น นางศรีมาลาทัดทานไม่ได้จึงบอกให้ไปขอความช่วยเหลือจากหลวงต่างใจผู้เป็นอา ทั้งสองจึงได้ลาไป และได้ไปพักที่เขาจอมทอง วันหนึ่งพลายบัวได้เห็นนางแว่นแก้ว ก็เกิดความหลงใหล จึงได้ลาเพศจากเณร แอบไปหานางแว่นแก้ว ระหว่างทางได้พบกับนางตานี เพราะที่พักของพลายบัวกับพลายเพชรเป็นดงกล้วยตานี
ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ร้องเพลงสีนวล
รูปร่างกลายเป็นสาวน้อย แช่มช้อยนวลลออผ่องใส
เชิดโฉมประโลมละลานใจ แอบต้นกล้วยใหญ่แล้วถามมา
พ่อหนุ่มน้อยคนนี้อยู่ที่ไหน แต่ผู้เดียวเดินไปที่ในป่า
มีธุระสิ่งใดไปไหนมา เมตตาบอกความแต่ตามจริง
ร้องร่าย
เมื่อนั้น พลายบัวตรองตรึกไม่นึกกริ่ง
เห็นตานีมีฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์จริง จึงวอนวิงด้วยสุนทรวาจา
ร้องเพลงทองย่อน
เจ้านางตานีทองน้องแก้ว เป็นคนแก้วพี่จะรักเจ้านักหนา
พี่ขอเชิญชวนแก้วแววตา ไปเป็นเพื่อนพี่ยาจนวันตาย
พี่มุ่งหน้าหวังว่าจะชวนน้อง แม่นางตานีทองละอองฉาย
ไปเป็นเพื่อนคู่ยากลำบากกาย แล้วเจ้าพลายป่าเป่ามนต์เสน่ห์จันทร์
ร้องร่าย
เมื่อนั้น นางตานีปรีเปรมเกษมสันต์
ต้องมนต์ดลจิตคิดผูกพันธ์ ก็กลายร่างคืนพลันทันใด
รัวเข้า
ตอน ย่าหรันตามนกยูง
ละครในเป็นนาฏกรรมที่คนไทยถือว่า เป็นศิลปะแบบแผนชั้นสูง คือกำเนิดเกิดขึ้นภายในราชสำนัก การแสดงชุดย่าหรันตามนกยูง เป็นการแสดงจากเรื่องอิเหนา เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า ศรียะตา ซึ่งเป็นอนุชาของนางบุษบา มีพรรษาครบ 15 ปี ท้าวดาหาผู้เป็นบิดา จึงจัดพิธีโสกรรณ แล้วแต่งตั้งให้ดำรงอยู่วังหน้า แต่ศรียะตามีความคิดถึงบุษบาและอิเหนา จึงออกอุบายทูลลาท้าวดาหาออกประพาสป่า โดยปลอมตัวเป็นชาวป่า ชื่อ ย่าหรัน พี่เลี้ยงและทหารที่ตามเสด็จมา ก็เปลี่ยนชื่อทุกคน ศรียะตาในนามใหม่ว่าย่าหรันเที่ยวติดตามหาบุษบาและอิเหนาเป็นเวลานานก้ไม่พบ ทำให้เดือดร้อนถึงเทพเจ้า ปะตาละกาหลา ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของศรียะตา ต้องแปลงพระองค์เป็นนกยูง
มาล่อให้ย่าหรันหลงติดตามไปจนถึงเมืองกาหลง
เมื่อนั้น บุหลงสุราลักษ์ปักศรี
เห็นย่าหรันดันดัดพนารี ขวบขิบพารีตามมา
จึงโผผินบินไปให้ห่าง แล้วเยื้องย่างหยุดยืนคอยท่า
ฟ้อนรำทำทีกิริยา ปักษาแกล้งล่อรอรั้ง
ละครพันทางเรื่อง พระลอ
ตอนปู่เจ้าเรียกไก่
คัดมาจากตอนปู่เจ้าเรียกไก่ เทพเจ้าจากเมืองสรอง ทราบว่าพระลอต้องมนต์ปู่เจ้า ออกเดินทางจากเมืองแมนสรวงถึงฝั่งแม่น้ำกาหลง จึงร่ายมนต์เรียกไก่ จึงได้ไก่แก้วไปล่อพระลอ เมื่อปู่เจ้าเลือกไก่แก้วได้แล้ว จึงร่ายมนต์ให้ผีสิงไก่แก้วแล้วสั่งให้ไปล่อพระลอ นำทางให้เสด็จมาเมืองสรองโดยเร็ววัน การแสดงชุดนี้คัดมาจากเรื่องพระลอ กล่าวคือ พระเพื่อน พระแพง 2 พระธิดาผู้เลอโฉมแห่งเมืองสรอง สั่งให้นางโรยสองพระพี่เลี้ยง ไปขอความช่วยเหลือจากปู่เจ้าสมิงพรายช่วยนำพาให้พระลอ ยุพราชแห่งเมืองสรองเสด็จมาโดยเร็ววัน ปู่เจ้าสมิงพรายเลยใช้อาถรรพ์ลงแก่ไก่ให้ไปล่อพระลอมา
ปี่พาทย์ทำเพลงลาวพงดำ
มาจากกล่าวบทไป ถึงปู่เจ้าจอมเทวาสิงขร
สงสารเพื่อนแพงน้องสองบังอร เฝ้าอาวรณ์หวั่นคนึงถึงพระลอ
ให้นางโรยนางรื่นขึ้นมาเล่า จำจะเอาไก่งามไปตามล่อ
ให้รีบมาเหมือนหวังไม่รั้งรอ จะได้พอใจปองสองพระองค์
ตริพรางนางปู่ย่าญาติ จากแท่นทิพยวาสเรืองระหงษ์
งามเชสวชิรวาสอาตองค์ เสด็จลงหน้าฉานชาลเทวา
ปี่พาทย์เพลงลาวจ้อย
สร้อยแสงแดงพระพาย ขนเขียวลายระยับ
ปีกสลับเบญจรงค์ เลื่อมลายยงค์หงษ์สบาด
ขอบตาชาติพระพริ้ง สิงคลิ้งงอนพรายพลัน
ขานขันเสียงเอาใจ เดือยงอนใสสีลำยอง
สองเท้าเทียมนพมาศ ปานชรุชาติคารมณ์
ปู่ก็ใช้ให้ผีลง ผีก็ลงแก่ไก่
ไก่แก้วไซร้บ่มิกลัว ผลุผกหัวองอาจ
ขานขันตีปีกป้อง ร้องเรื่อยเฉื่อยฉาดฉาน
เสียงขันขานเจื่อยแจ้ว ปู่สั่งแล้วทุกประการ
บ่มินานผาดโผนผยอง โลดลำพองคะนองบ่หึง
มุ่งมั่นถึงพระเลืองลอ ยกคอขันขานร้อง
ตีปีกป้องพรายพลัน ร้องเรื่อยเจื่อยจ้ายๆ
แล้วไซร้ปีกไซร้หาง โฉมสำอางค์สำอาจ
กรีดปีกวาดเรียกเย้า ค่อยล่อพระลอเจ้าจักต้องดำเนินแลนา
พระลอเข้าสวน
ปี่พาทย์ทำเพลงลาวกระแต
เมื่อนั้น พระลอดิลกเลิศฉวี
ปลอมเพศแปลงนามเป็นพราหมณ์ชี เหมือนมุนีศรีเกษพระเวทมนต์
นายแก้วนายขวัญนั้นเปลี่ยนนาม ชื่อนายรามนายรัตน์ไม่ขัดสน
มัคคุเทศก์ก็นำเสด็จจรดล ผ่านสถลมาร์คเข้าอุทยาน
ปี่พาทย์ทำเพลงเสมอลาว
เพลงลาวชมดง
การะเกดเหมือนเกศแก้วเกศา มลุลีเหมือนบุปผาแม่เกี้ยวเกล้า
(สร้อย) คู่อ่อนเท้าเครืออะคร้าวงามเอย เพื่อนแพงผองเผื่อพี่ปองสมเอย
นางแย้มเหมือนแก้มแม่แย้มเย้า ใบโขกเหมือนเจ้าจงกวักกร (สร้อย)
คณานกแมกไม้เรียงรัง ร้องเรื่อยรับขวัญเหมือนเสียงสมร (สร้อย)
เห็นโนรีสาลิกาใคร่ว่าวอน ฝากอักษรถวายน้องสองพรู (สร้อย)
ถึงสระบัวยั่วยอพระลอรัก ใคร่เก็บฝักหักดอกออกอดสู (สร้อย)
ผองภมรว่อนเฝ้าเคล้าเรณู เหมือนเย้ยภูอรเห่ออยู่เอองค์ (สร้อย)
คนึงนางพลางเสด็จลีลา แอบร่มพฤกษาสูงระหง (สร้อย)
สุคนธรหอมหวนลำดวนดง เหมือนจะส่งกลิ่นถวายราชา (สร้อย)
พระลอตามไก่
ทางอาณาจักรล้านนามีนครใหม่แห่งหนึ่งชื่อเมือง แมนทรวง เจ้าผู้ครองนครพระนามว่าท้าวแมนทรวง มีชายาชื่อ นางบุญเหลือและราชโอรสซึ่งพระลอออกไปทางทิศตะวันออกของเมืองแมนทรวง มีนครใหญ่อีกแห่งหนึ่งชื่อเมืองสรอง เจ้าผู้ครองนครทรงพระนามว่าท้าวพิมพิสาคร มีโอรสพระนามว่า ท้าวพิชัยพิษณุกร และได้นางตาวดีเป็นชายามีธิดา 2 องค์ ทรงพระนามว่า พระเพื่อน พระแพง
ท้าวแม้นทรวงยกกองทัพมาตีเมืองสรอง ท้าวพิมพิสาครออกรบจนสิ้นพระชนม์บนคอช้างเมื่อเสด็จศึกสงครามท้าวแมนทรวงได้สร้างอภิเษกสมรสกับนางลักษณาวดี เมื่อท้าวแมนทรวงสวรรคตแล้วพระลอก็ครองราช ต่อมากิตติศัพท์ เรื่องความงามของพระลอไปถึงพระเพื่อน พระแพง นางใคร่จะได้พระลอเป็นสวามีและกลัดกลุ้มพระทัยจนพ่ายผอม ครั้นนางโรยทราบความก็ได้คิดช่วยเหลือ โดยส่งคนไปขับร้องพรรณนาความงามของพระเพื่อน พระแพง ต่อพระลอแต่พระองค์ก็ถูกสลายของปู่เจ้าทนฤทธิ์เสน่ห์ไม่ไหวจึงตัสถามพระมารดาและมเหสีว่าจะไปเมืองสรองกับนายแก้ว นายขวัญพี่เลี้ยง เมื่อพระลอเข้าเมืองปู่เจ้าสมิงพรายก็ได้ร่ายเวทมนต์ให้ผีลงสิงในตัวไก่แก้วและใช้ไปล่อพระลอมา
ผู้บรรจุทำนองขับร้องและเพลงดนตรี คือ เสด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
การแต่งกาย : พระลอ แต่งยืนเครื่องพระสีแดงขริบสีเขียว
ไก่ แต่งยืนเครื่องสีขาวเป็นจูเร็ตของไก่หรือนุ่งกางเกงทั้งสองแบบมีปีกและหาง
โอกาสที่ใช้แสดงสลับฉาก ใช้แสดงประกอบละครเรื่องพระลอ
เนื้อร้อง
เพลง เชิดฉิ่ง
ไก่เอยไก่แก้ว กล้าแกล้วกายสิทธิ์ฤทธิ์ผีสิง
เลี้ยวล่อลอราชฉลาดจริง เพราะพริ้งงอนสร้อยสวยสอางค์
ทำทีแล่นถลาให้คว้าเหมาะ ย่างเยาะกรีดปีกไซร้หาง
ครั้นพระลอไล่กระชั้นคั้นกลาง ไก่ผันหันห่างรามา
ฉับเฉียวเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน วนเวียนหลบกข่างกลางพฤกษา
ขันเจื่อยเฉื่อยก้องท้องวนา ทำท่าเยาะเย้ยภูมี
วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณครับ ต้องการเนื้อหาไปทำรายงานพอดี ที่เดียวครบเลย ^^
ตอบลบไม่มีประวติเพลง อิเหนาลำพึงถึงสามนาง หรอค่ะคุณครู
ตอบลบครูขา ขอประวัติโดยละเอียดของเสมอควงได้ไหมค่ะ
ตอบลบ